เผยโฉมบริษัทเจ๊งยับเยินที่สุด



นิตยสารฟอร์จูน จัดอันดับเหยื่อตัวยงวิกฤติเบอร์เกอร์ บริษัทที่ขาดทุนสูงสุดประจำปี 2008 คือ เอไอจี ขาดทุน 99,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับสอง แฟนนี่ เม

นิตยสารฟอร์จูนจัดอันดับบริษัทที่ขาดทุนสูงสุดประจำปี 2008 ที่ผ่านมา เริ่มต้นจากแชมป์ ขาดทุนยับเยินที่สุด คัดเลือกมา 10 อันดับแรก ได้แก่

1. เอไอจี ขาดทุน 99,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ไม่มีเซอร์ไพรส์สำหรับยักษ์ธุรกิจประกัน เอไอจีถังแตกครั้งมโหฬาร สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการลงทุนที่ผิดพลาดที่เริ่มต้นจากบริษัทลูกในอังกฤษ AIGFP (AIG Financial Pro? ducts) ที่เข้าไปทำกำไรในตลาดค้ำประกันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) จนกลายเป็นภาระหนักอึ้งของคนอเมริกันทั้งประเทศ เพราะที่สุดรัฐต้องใช้เงินภาษีเข้าไปอุ้ม ถือหุ้นเอไอจีถึง 80% เพื่อไม่ให้ยักษ์อเมริกัน สัญลักษณ์ทุนนิยมแห่งนี้ต้องล้มพับไปต่อหน้าต่อตา

2. แฟนนี่ เม ขาดทุน 58,700 ล้านเหรียญฯ

ธนาคารที่เป็นกลไกในการปล่อยกู้ให้กับคนซื้อบ้าน โดยมีกระทรวงการคลังช่วยค้ำประกันเงินกู้ ดอกเบี้ยราคาต่ำ แต่ที่สุดก็เอาตัวไม่รอดเมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกดังโพละ ปีที่ผ่านมาขาดทุนไปกว่า 30,000 ล้านเหรียญฯ เฉพาะจากการค้ำประกันสินเชื่อสถานเดียว ที่สุดนับว่าเป็นบุญของบรรดาผู้บริหาร เพราะรัฐบาลตัดสินใจเข้าไปเทกโอเวอร์อยู่ดี แม้จะยังไม่ต้องอัดฉีดสภาพคล่องทันที

3. เฟรดดี้ แมค ขาดทุน 50,100 ล้านเหรียญฯ

สถาบันการเงินคู่แฝดของแฟนนี่ เม ที่สร้างความเสียหายให้แก่ กันและกันมหาศาล เพราะแม้ว่าแฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมค จะไม่ได้รับอนุญาตให้ค้ำประกันหรือเข้าไปลงทุนเก็งกำไรในตลาดซับไพร์ม แต่สิ่งที่เฟรดดี้ แมค ทำ คือการเข้าไปลงทุนตราสารหนี้ที่ถูกค้ำประกันโดยสินเชื่อซับไพร์ม หวังเก็งกำไรก้อนโต แต่สุดท้ายที่ได้รับกลับเป็นตัวเลขขาดทุน ทำให้เฟรดดี้ แมคในขณะนั้น ต้องการเงินสดอัดฉีดสภาพคล่องทันที 14,000 ล้านเหรียญฯ แต่ต่อมายังร้องขอเงินสดเพิ่มเติมอีก 31,000 ล้านเหรียญฯ

4. จีเอ็ม ขาดทุน 30,900 ล้านเหรียญฯ

กระเสาะกระแสะมาเป็นเวลานาน ค่ายรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริการ่อแร่จากยอดขายทั่วโลกที่ลดลง 11% ผลขาดทุนยิ่งถลำลึกขึ้นไปอีก เมื่อหุ้นที่ถือไว้ในบริษัทในเครืออย่าง GMAC ลดฮวบฮาบ ทำให้ ต้องปิดโรงงาน ปรับลดพนักงาน ด้วยความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาลจำนวน 13,400 ล้านเหรียญฯ จีเอ็มกำลังพยายามฟื้นคืนชีพอีกครั้ง แผนกอบกู้กิจการประกอบด้วย การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆเกือบ 24 รุ่นในปีที่จะถึง ปรับลดต้นทุน ปรับโครงสร้างหนี้ หวังสร้างความประทับใจให้เจ้าหนี้และนักลงทุน

5. ซิตี้กรุ๊ป ขาดทุน 27,700 ล้านเหรียญฯ

กูรูด้านธุรกิจการเงินซึ่งสูญเสียตำแหน่ง ด้วยผลงานขาดทุนติดต่อกันทุกไตรมาสตลอดปี 2008 หลักๆมาจากการขาดทุนในซับไพร์มที่สูงถึง 14,000 ล้านเหรียญฯ ซีอีโอของบริษัทจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้ซิตี้กรุ๊ปอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการแยกกิจการออกจากซิตี้แบงก์ หรือจับกิจการหลักทรัพย์ในเครือสมิธ บาร์นนี่ ให้เข้าไปเป็นพันธมิตรธุรกิจร่วมกับมอร์แกน สแตนเล่ย์ เป็นต้น



6. เมอร์ริล ลินช์ ขาดทุน 27,600 ล้านเหรียญฯ

อยู่รอดผ่านพ้นปี 2008 มาได้แบบเฉียดฉิว จากการช่วยเหลือของธนาคารแห่งอเมริกา หรือแบงก์ ออฟ อเมริกา ที่เข้าไปซื้อเมอร์ริล ลินช์ในนาทีสุดท้าย ทั้งที่ซีอีโอได้พยายามประคองรัฐนาวาเมอร์ริล ลินช์ ให้ฝ่าคลื่นลมครั้งนี้ให้สำเร็จ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเพื่อนๆวาณิชธนกิจยักษ์ที่ล้มไปก่อนหน้า อย่างแบร์สเติร์น หรือเลห์แมน บราเธอร์ แต่ สิ่งที่ตามมาจากความพยายามนั้นของซีอีโอ ก็คือเงินโบนัสตอบแทนก้อนโตให้ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์เล่น แถมที่สุดรัฐยังต้องอัดฉีดเงินภาษีจากประชาชน เข้าไปช่วยเหลือแบงก์ ออฟ อเมริกา ที่ถังแตกจากการเข้าไปอุ้มเมอร์ริล ลินช์อีกต่างหาก ประชาชนคนเสียภาษีจะไม่โกรธอย่างไรไหว

7. โคโนโคฟิลิปส์ ขาดทุน 17,000 ล้านเหรียญฯ

บริษัทน้ำมันอันดับ 3 ของอเมริกาที่น่าได้รับโล่จากการบริหารขาดทุน ตลอดทั้งปีที่ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในระดับสูงลิบลิ่ว ใจความสำคัญมาจากค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ที่โคโนโคใช้เมื่อเข้าซื้อกิจการฟิลิปส์ ในทางตรงกันข้าม เมื่อเอ็กซอนโมบิลตัดสินใจเบรกแผนเข้าซื้อกิจการผู้ค้าน้ำมันรายอื่น พวกเขาได้กลายเป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดในหมวด 500 บริษัทของฟอร์จูนไปทันทีในปี 2008

8. ฟอร์ดมอเตอร์ส ขาดทุน 14,700 ล้านเหรียญฯ

จากยอดขายในปี 2008 ที่ลดต่ำลง ทำให้ฟอร์ดมีผลดำเนินการขาดทุนเกือบ 12,000 ล้านเหรียญฯ และสิ่งที่แตกต่างจากจีเอ็มและ ไครสเลอร์ นั่นก็คือฟอร์ดไม่ได้แยกธุรกิจไฟแนนซ์ออกจากบริษัทแม่ ทำให้ต้องแบกรับหนี้เสียจากลูกค้ารถอีกกว่า 2,600 ล้านเหรียญฯ อย่างไรก็ตาม ฟอร์ดยังคงโอเคอยู่ เพราะได้แชร์จากจีเอ็มและไครสเลอร์มาจำนวนไม่น้อยเมื่อปีที่ผ่านมา แถมรถรุ่นใหม่ไฮบริดยังได้รับเสียงตอบรับที่ดี ทำให้ซีอีโอของฟอร์ดยังกอดเก้าอี้ไว้ได้ ต่างจากซีอีโอจีเอ็มและไครสเลอร์ ที่ระเห็จตกเก้าอี้ไปเรียบร้อย

9. ไทม์วอร์เนอร์ ขาดทุน 13,400 ล้านเหรียญฯ

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในอาณาจักรอย่างสิ่งพิมพ์ (ไทม์ ซึ่งเป็นเจ้าของฟอร์จูน) เอโอแอล และเคเบิลทีวี ล้วนแล้วแต่บาดเจ็บสาหัส แต่เคเบิลทีวีหนักหนาที่สุด เพราะต้องแข่งขันกับสื่อรอบทิศ ทั้งทีวีดาวเทียม ทีวีบนอินเตอร์เน็ต และทีวีออนโมบาย ขณะที่ธุรกิจหนังและซีรี่ส์ละครยังไปได้ดี โดยเฉพาะรายได้ถล่มทลายจากหนังฟอร์มยักษ์ The Dark Knight

10. ซีบีเอส ขาดทุน 11,700 ล้านเหรียญฯ

แม้จะเข้าไปซื้อซีเน็ท เว็บไซต์ข่าวไอทีชื่อดัง แต่ธุรกิจของซีบีเอสก็ลดน้อยถอยมูลค่าลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะธุรกิจสถานีโทรทัศน์ ขาดทุนถึง 10,000 ล้านเหรียญฯ ไม่ต่างจากธุรกิจสิ่งพิมพ์และวิทยุในเครือ

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์