ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ ระหว่างปี 2552 คงประสบปัญหาในการหาตำแหน่งงาน ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานของไทยพุ่งขึ้นจากร้อยละ 1.4 และร้อยละ 2.4 ในเดือนมกราคม 2552 เข้าหาระดับร้อยละ 4.5-5.9 ตอนสิ้นปี 2552 สูงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540
ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง และมีการลดการจ้างงานไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ นอกจากแรงงานในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงานแล้ว ยังมีแรงงานไทยในต่างประเทศอีกประมาณ 5.17แสนคนในปี 2551 ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก และปัญหาการว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้ความต้องการแรงงานจากต่างประเทศลดลง
สำหรับแนวโน้มแรงงานไทยในต่างประเทศปี 2552 อาจชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า
จำนวนแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศ น่าจะลดลงจากปีก่อนที่คาดว่ามีประมาณ 5.17 แสนคน เนื่องจากจำนวนแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกันอาจมีแรงงานไทยในต่างประเทศที่เดินทางกลับประเทศเพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากยังมีปัจจัยลบที่จะยังกดดันภาวะการทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาที่สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ซึ่งทำให้เป็นที่คาดหมายว่า
เศรษฐกิจโลกอาจมีแนวโน้มถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวลงมากกว่าที่ IMF ได้คาดการณ์ไว้ล่าสุดว่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศปลายทางที่สำคัญของแรงงานไทย ก็คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงแรงเช่นกัน ซึ่งย่อมจะหมายถึงปัญหาการว่างงานในประเทศเหล่านั้น ที่คงจะทวีความรุนแรงขึ้นอันอาจนำมาสู่การกำหนดมาตรการและเพิ่มเงื่อนไขการจ้างงานเพื่อลดจำนวนแรงงานต่างชาติ ท้ายที่สุดแล้ว คงจะมีผลต่อเนื่องให้ความต้องการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ รวมถึงแรงงานไทยลดลงตามไปด้วย
ภายใต้มุมมองดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า
แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศในปี 2552 อาจจะมีจำนวน 152,303-159,748 คน ลดลงประมาณร้อยละ 1.3-5.9 โดยเป็นการติดลบมากขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 0.04 ในปี 2551 และอาจจะทำให้มีแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศในปีนี้ อาจมีจำนวน 4.69 แสนคน ลดลงร้อยละ 9.2 จากที่คาดว่าน่าจะมีประมาณ 5.17 แสนคนในปี 2551
แรงงานไทยปี 2552 ... เลิกจ้าง 200,000 คน รายได้ลดประมาณ 10,000 ล้านบาท
สำหรับผลกระทบที่จะตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า
จะส่งผลให้รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยในต่างประเทศอาจลดลงประมาณร้อยละ 8.3-15.8 จากจำนวน 6.3 หมื่นล้านบาทในปี 2551 ทำให้รายได้หายไปประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งการลดลงของรายได้ส่งกลับฯ ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อจีดีพีประมาณร้อยละ 0.06-0.11 และเป็นอีกปัจจัยถ่วงให้ดุลบริการ เงินโอน และบริจาค มีโอกาสเกินดุลลดลง จากปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2552 ที่คาดว่าจะหดตัวลง คงจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงตามไปด้วย
ข้อจำกัดของตลาดแรงงานต่างประเทศดังกล่าว ยังคาดว่า
จะมีผลซ้ำเติมปัญหาการว่างงานในประเทศ โดยเฉพาะจากแรงงานไทยที่มีโอกาสถูกเลิกจ้างและเดินทางกลับประเทศสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 2 แสนคน ผลที่ตามมาก็คือ อัตราการว่างงานในประเทศมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.3 จากสิ้นปี 2551 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 และเมื่อผนวกกับปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่นำมาสู่การปรับลดกำลังการผลิตและลดจำนวนคนงาน
รวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ในช่วงระหว่างปี 2552 ที่คงจะประสบปัญหาในการหาตำแหน่งงานเช่นกันนั้น คงจะทำให้อัตราการว่างงานของไทยพุ่งขึ้นจากระดับร้อยละ 1.4 ณ สิ้นปี 2551 และร้อยละ 2.4 ในเดือนมกราคม 2552 เข้าหาระดับร้อยละ 4.5-5.9 ณ สิ้นปี 2552 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าสมัยช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผลักดันให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นไปแตะร้อยละ 4.4 ในปี 2541
เป็นที่น่าสังเกตว่าแรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศดังกล่าว ยังเป็นกลุ่มที่ขาดหลักประกันทางสังคม
ขณะเดียวกัน ก็อาจต้องประสบกับภาระหนี้สินที่ต้องชดใช้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศส่วนใหญ่มักจะกู้ยืมเงินมาใช้เพื่อการเดินทาง ดังนั้น ภาครัฐจึงอาจต้องหามาตรการเพื่อรับมือและช่วยเหลือแรงงานกลุ่มนี้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาสังคมที่อาจจะตามมา