การเมืองป่วนทำท่องเที่ยวสูญ 1.9 แสนล้านบาท



นายกงกฤช  หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ได้ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย  ภายใต้วิกฤติ ความขัดแย้งขั้นรุนแรง จะทำให้ปี 2552 มีจำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 10.862 ล้านคน


หรือติดลบ 22.86% เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มีนัก ท่องเที่ยวต่างชาติ 14.081 ล้านคน ซึ่งในปีนั้นก็ติดลบ 2.65% จากปีก่อนหน้า
โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ที่ผ่านมา คาดว่าจะติดลบ 25% ขณะที่ไตรมาสที่ 2 คือระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. จะติดลบถึง 40% จากนั้น ไตรมาสที่ 3 จะติดลบ 30% แล้วจึงจะฟื้นในไตรมาสที่ 4 เริ่มจากเดือน ต.ค.-ธ.ค. ที่จะขยายตัวขึ้น 10% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ที่ติดลบค่อนข้างมากถึง 29.56% จากที่มีการชุมนุม ทางการเมืองจนถึงปิดสนามบินสุวรรณภูมิ  สำหรับราคาค่าบริการตลอดปี 2552 คาดว่าจะลดลงประมาณ 12.5% จากปี 2551 ทำให้คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 350,000 ล้านบาท หรือลดลง จาก 540,000 ล้านบาท ในปี 2551 ประมาณ 35% หรือมีรายได้ลดลง 190,000 ล้านบาท  ชี้สงบก่อนค่อยเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ด้านภาวะการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น โดย จะมีการทยอยลดการจ้างแรงงาน ลดผลตอบแทนของพนักงานในทุกรูปแบบ เช่น การเพิ่มจำนวน วันหยุด การลดค่าตอบแทนสวัสดิการ และการ ลดเงินเดือนในท้ายที่สุด  คาดว่ามีผลรวมต่อภาวะ การจ้างงานลดลง 10% ของการจ้างงานทางตรงที่ มีอยู่ 2.57 ล้านคน หรือคิดเป็นการจ้างงานลดลง 257,000 คน ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบต่อการจ้างงานทางอ้อมที่มีอยู่อีกกว่า 2 ล้านคน  สทท.ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติภายใต้ กรอบกฎหมาย และขอบคุณรัฐบาลที่พยายามหาทางยุติความขัดแย้งที่รุนแรงได้โดยเร็ว โดยมีความสูญเสียน้อยที่สุด และขอบคุณกลุ่มพลังเสื้อแดงที่ยุติการชุมนุมโดยเร็วเช่นกัน ส่วนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้กระทบด้านลบต่อความ เชื่อมั่นของต่างประเทศ และกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่เห็นความจำเป็นของรัฐบาลทั้งมองว่าไม่จำเป็นต้องรีบยกเลิกและควรกระทำเมื่อรัฐบาลมีความมั่นใจต่อสถานการณ์ว่าสงบเรียบร้อยแล้วแท้จริง



หวั่นสายการบินยกเลิกมาไทย  นายกงกฤช ยังได้เสนอแนวทางและมาตรการ เยียวยาสถานการณ์ท่องเที่ยว ว่า ต้องใช้ทั้งมาตรการกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และมาตรการด้านประชาสัมพันธ์ อย่างเร่งด่วน ส่วนการโรดโชว์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต้องรอให้มีความสงบสุขชัดเจนแท้จริงก่อน อีกทั้งขอให้รัฐบาลเจรจากับทุกสายการบิน ให้คงเส้นทางการบินมาประเทศไทย เพราะตอนนี้ มีแนวโน้มว่าหลายสายการบินจะหยุดหรือยกเลิกการบินมาไทย อีกทั้งขอให้รัฐบาลร่วมกับสมาคมประกันภัยทำประกันให้นักท่องเที่ยวในการชดเชย ความเสียหายอันเกิดจากความวุ่นวายทางการเมือง ในประเทศ เพราะในกรณีมีเหตุจลาจลจะไม่มีบริษัทใดยอมรับประกัน นอกจากนี้ ต้องเยียวยาผู้ประกอบการที่กำลังขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดยจัดหาสินเชื่อผ่อนปรนทั้งเงื่อนไขและดอกเบี้ย โดยมาตรการที่มีอยู่ตอนนี้ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง อีกทั้งขอให้มีการผ่อนชำระค่าภาษีต่างๆ ภายใน 2 ปี เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษี อบจ. รวมทั้งเงินนำส่งประกันสังคม  ชุมพลชงท่องเที่ยววาระแห่งชาติ  นายชุมพล  ศิลปอาชา  รมว.การท่องเที่ยวและ กีฬา เปิดเผยว่า จะเสนอให้ ครม.วันที่ 17 เม.ย.นี้ นำเรื่องการฟื้นฟูและแก้ไขการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมขอปรับแผนการใช้งบประมาณ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ใน 3 ปี ข้างหน้า (2553-2555) ที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว ประมาณ 17,000 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านท่องเที่ยว 6,000 ล้านบาท และด้านโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวอีกกว่า 10,000 ล้านบาท มาใช้แก้ปัญหาและฟื้นฟูการ ท่องเที่ยวเฉพาะหน้าก่อน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งออกหรือการลงทุน ขณะเดียวกันจะต้องปรับยุทธศาสตร์บางประเทศ เช่น การเจาะตลาดประเทศในเอเชียที่ไม่กระทบเช่นตะวันออกกลาง อินเดีย มาทดแทน  เพราะประเทศเหล่านี้ไม่กังวลปัญหาทางการเมือง  ผมยังยืนยันที่จะไปโรดโชว์ในงาน Arabian Travel Market (ATM) 2009 ที่เมืองดูไบ  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 5-8 พ.ค.นี้ และได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมคณะไปด้วยกัน และไม่สนใจว่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะอยู่ในเมืองนั้น  ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะ กรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินผลความเสียหายเป็นตัวเลขออกมา แต่ที่แน่ๆ ผลกระทบด้านภาพพจน์เสียหายมาก ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวที่พอรักษาได้คือ ตะวันออกกลางที่ไม่อ่อนไหว มาก ซึ่งจะเริ่มเดินทางมามากช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ ส่วนการจัดทำแคมเปญท่องเที่ยว จะต้องทำด้านฟื้นฟูความเชื่อมั่น เดินสายขอโทษ แต่ไม่ ไปยืนยันอะไรมาก ด้านการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกภาคส่วนต้องกัดฟันอีกรอบเอาบ้านเมืองให้รอดก่อน  ถ้าไม่มี 6 วันอันตรายที่ผ่านมา ในสิ้น พ.ค.นี้  ภาคเอกชนบอกอยู่แล้วต้องปลดคนงานเดือนละ 25,000 คนไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องภาครัฐก็ต้องมาดูการฟื้นฟูจะทำอย่างไร การทำงาน ต่อจากนี้ยากมาก และต้องทำให้คนเห็นว่าการต่อสู้ด้านการท่องเที่ยวครั้งนี้ไม่ใช้หาเงินเข้า ประเทศเท่านั้น  แต่ต้องไม่ให้คนตกงานไปมากกว่านี้  จ่อเพิ่มเงินกู้อีก 10,000 ล้านบาท  น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า วันที่ 21 เม.ย.นี้ เตรียมเสนอคณะกรรมการผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน ซึ่งมีนาย ชุมพล  ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็น ประธาน ขยายโครงการช่วยเหลือทางการเงินกับ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จากเดิมช่วยเฉพาะผู้ ประกอบการที่มีสินทรัพย์ไม่เกิน 200 ล้านบาท วงเงินกู้รวม 5,000 ล้านบาท จะช่วยเหลือเพิ่มเติมกับผู้ประกอบการที่มีสินทรัพย์เกิน 200 ล้านบาท และไม่จำกัดว่าเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ประกอบการทุกรายที่กำลังประสบปัญหาอยู่ วงเงินกู้รวมอีก 10,000 ล้านบาท

โดยรัฐบาลจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ 2% ธนาคารพาณิชย์ อีก 1% เช่นเดียวกับโครงการเดิม แต่เพิ่มเวลาสนับสนุนเงินกู้จาก 2 ปี เป็น 4 ปี คาดว่าต้อง ใช้งบประมาณสนับสนุนเพิ่ม 100 ล้านบาท และจะเสนอโครงการกับรัฐบาลได้ภายในเดือนนี้ ซึ่งภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลออกพันธบัตร รัฐบาล วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้มาปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชน แทนการช่วยเหลือโดยให้กู้ผ่านธนาคารพาณิชย์
 

นอกจากนี้ กระทรวงฯ เตรียมของบประมาณ 1,000 ล้านบาท จัดทำโครงการอบรมและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สำหรับพนักงาน ระดับล่าง ซึ่งมี 200,000-300,000 คน ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย.นี้ คาดว่าจะรองรับสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการให้พนักงานร่วมโครงการหยุดงาน สัปดาห์ละ 1 วัน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์