นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าววันนี้ (15 เม.ย.) ถึงผลกระทบจากการชุมนุมที่เกิดกับการท่องเที่ยวขณะนี้ว่า รุนแรง ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้
ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย. รัฐบาลจึงควรเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ นอกจากนี้ ให้เร่งยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ
รายงานอ้างธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะการใช้จ่ายของประชาชน ว่าเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551
ยอดรวมการค้าปลีกผ่านร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.2 ตรงข้ามกับยอดค้าปลีกตลาดนัด แผงลอย และตลาดสด ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64.2 ชี้ได้ว่า ประชาชนหันมาซื้อสินค้าราคาถูกมากขึ้น ทั้งนี้ ยอดขายปลีกสินค้ามือ 2 ลดลงมากสุดถึงร้อยละ 50.3 เช่นเดียวกับสินค้าขายปลีกทางไปรษณีย์ ลดลงร้อยละ 33.8 สำหรับยอดนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยในเดือน ม.ค. ลดลงร้อยละ 16.8 ชี้ว่า ประชาชนชะลอการใช้จ่ายเช่นกัน
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รักษาการ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมตรี อยู่ระหว่างการรับฟังข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองต่างๆ
เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาว่า ควรจะมีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้เมื่อใด เบื้องต้น อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เนื่องจากยังพบว่า มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่ ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่เป็นระยะ ๆ
ทำให้มีความจำเป็น ต้องคงกองกำลัง ในการทำหน้าที่รักษาความสงบต่อ หากเมื่อใด ที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาความสงบ รายงานว่า สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ และสามารถบังคับใช้กฎหมายตามปกติได้แล้ว นายกรัฐมนตรีคงสามารถตัดสินใจ ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ทันที