วันนี้ (11 เม.ย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หน่อไม้ปี๊บ นับเป็นเมนูอาหารยอดฮิต หากผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อนำมาบริโภคอาจเกิดอันตรายได้ โดยก่อนหน้านี้ มีชาวบ้าน อ. บ้านหลวง จ. น่าน จำนวนกว่า 200 ราย ล้มป่วยลงด้วยโรคอาหารเป็นพิษ "โบทูลึซึ่ม" ที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคหน่อไม้ปี๊บที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ "คลอสตริเดียม โบทูลินัม" ที่สร้างสารพิษ "โบทูลินัมทอกซิน" ออกมา ทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะกลืนอาหารไม่สะดวก หายใจติดขัด กล้ามเนื้ออ่อนแรงและหนังตาตก บางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
ทั้งนี้ อย. ตระหนักและเล็งเห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จึงได้ออกมาตรการป้องกัน คือ
ผู้ผลิต ต้องดำเนินการผลิตหน่อไม้ปี๊บแบบปรับกรดเท่านั้น และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (จีเอ็มพี) โดยต้องขออนุญาตผลิตอาหารให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้จำหน่าย ต้องจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุญาตจาก อย. แล้วเท่านั้น โดยหน่อไม้ปี๊บต้องมีฉลากถูกต้อง ระบุชื่อสถานที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีที่หมดอายุ และมีเครื่องหมาย อย. ส่วนภาชนะบรรจุต้องเป็นปี๊บใหม่ ไม่มีรอยบัดกรีฝา ตัวปี๊บไม่มีรอยบุบ บวม รั่ว รวมทั้งไม่ควรซื้อหน่อไม้ที่มีก้นปี๊บดำจากการเผาไหม้โดยตรงกับเปลวไฟ เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักจากภาชนะบรรจุ
ส่วนผู้บริโภค ต้องเลือกซื้อหน่อไม้ปี๊บที่มีการปรับกรดแล้ว ซึ่งมีรสเปรี้ยวบ้าง และที่สำคัญก่อนบริโภคทุกครั้งให้ต้มในน้ำเดือดนาน 20-30 นาที แล้วเทน้ำต้มทิ้ง เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคและยังช่วยลดความเปรี้ยวได้ด้วย หากพบว่าผู้ผลิตรายใดไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตอาหารจะมีโทษจำคุกไม่ เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ