นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ มีมติจะรายงานข้อมูลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ
โดยเฉพาะหน่วยงานที่ยังเบิกจ่ายล่าช้า หรือเบิกจ่ายได้ต่ำสุด ให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 นำไปประกอบการพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท ในช่วง 3 ปี (53-55) ว่า จะพิจารณาจัดสรรเงินตามที่เสนอโครงการมาหรือไม่ เพราะโครงการเดิมที่มีอยู่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ จะนำผลการเบิกจ่ายของส่วนราชและรัฐวิสาหกิจเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) พิจารณาเพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาเงินโบนัส หรือเงินพิเศษให้กับส่วนราชการแต่ละหน่วยงาน
เชื่อว่าทั้ง 2 แนวทางจะเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ กำหนดกลยุทธ์ และวางแผนการเบิกจ่ายงบประมาณให้ มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วขึ้นล่าสุด ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 27 มี.ค. (ต.ค.51-27 มี.ค.52) เบิกจ่ายได้ 845,361.92 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 46.07% ของวงเงินงบประมาณ 1.835 ล้าน ล้านบาท
“แม้ว่าภาพรวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจะเบิกจ่ายได้สูงกว่าปีก่อน 2.38% แต่ในแง่ของงบลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 127,113.57 ล้านบาท คิดเป็น 35.88% ต่ำกว่าปีก่อนที่เบิกจ่ายได้ 39.41% ทุกหน่วยงานต้องเร่งรัด และให้ความสำคัญให้มากกว่านี้ เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมาย”
ทั้งนี้ ส่วนราชการที่มีงบลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ต่ำที่สุด 5 อันดับแรกคือ เมืองพัทยา, กรุงเทพมหานคร, กรมราชทัณฑ์, สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้ต่ำสุดคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณแต่อย่างใด รองลงมาคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เบิกจ่ายได้เพียง 0.19% และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เบิกจ่ายได้ 25.81%
นายกอร์ปศักดิ์กล่าวด้วยว่า ส่วนงบประมาณจังหวัดที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนเลยมี 11 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชลบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ปัตตานี ระยอง นราธิวาส ยะลา ระนอง และตรัง โดยเฉพาะอุทัยธานี ยังไม่มีการเบิกจ่ายทั้งงบลงทุน และงบประจำ
ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวย การสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.จะดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะ ทาง 34.5 กม.โดยเร็ว
เพราะเป็นโครงการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาจราจรบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเมื่อศูนย์ราชการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบจะส่งผลให้การจราจรติดขัดมากขึ้น โดย สนข.จะประกาศประกวดราคาภายในปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปผลศึกษาและออกแบบรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาระบุว่ารูปแบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสมในโครงการสายสีชมพูคือ รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบยกระดับบริเวณเกาะกลางถนน (โมโนเรล) ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมระบบรถประมาณ 37,110 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายงานโยธา 17,090 ล้านบาท งานไฟฟ้าและเครื่องกล 7,855 ล้านบาท งานจัดหาขบวนรถ 6,770 ล้านบาท งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และออกแบบรายละเอียด 4,580 ล้านบาท และงานจ้างที่ปรึกษา 815 ล้านบาท
“เบื้องต้น สนข.ได้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้อยู่ในโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบที่ 2 ของรัฐบาล หลังจากนี้จะเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้ประกวดราคาได้ภายในปีนี้ ส่วนงานก่อสร้างจะใช้เวลาไม่นาน เพราะเป็นโครงสร้างยกระดับใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางถนน”
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดประกวด ราคาในปีนี้ยังมีอีก 3 โครงการคือ 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. ขณะนี้ได้รับการอนุมัติเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการแล้ว หลังจากนี้ รฟท. จะจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ 2. โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. อยู่ ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ และ 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กม. และสายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. อยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินกู้เช่นเดียวกัน