นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 700,000-900,000 ราย
จำนวนนี้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม 12,000-75,000 รายต่อปี อัตราป่วยตายของโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล คิดเป็นมูลค่าปีละ 913-2,453 ล้านบาท
สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังนั้น หากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ซ้ำซ้อนก็มีความเสี่ยงต่อชีวิตมาก ดังนั้นแนวทางป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้
ที่ผ่านมาได้มีการขยายสิทธิประโยชน์การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่ปี 2551 โดยเริ่มให้วัคซีนกับประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจำนวน 120,000 คนทั่วประเทศ และในปี 2552 ได้ขยายเป็นทุกกลุ่มอายุ ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ ไตวาย หลอดเลือดสมอง มะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด และเบาหวาน จำนวนประมาณ 1,800,000 คน
ซึ่งจะใช้งบประมาณ 357 ล้านบาท และกำหนดให้มีวันดีเดย์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 โรคพร้อมกัน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 นี้ เชื่อว่าจะทำให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น