สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการวิจัยในสหรัฐพบว่า
ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการนอนหลับเรื้อรังอาจมีแนวโน้มพยายามฆ่าตัวตาย แพทย์จึงควรเพิ่มการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนไม่หลับเรื้อรัง แม้ไม่มีประวัติปัญหาทางจิตก็ตาม
คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการนอนไม่หลับกับพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของชาวอเมริกัน 5,962 คน เป็นเวลา 1 ปี พบว่า ร้อยละ 2.6 มีความคิดฆ่าตัวตาย และร้อยละ 0.5 เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วจริงๆ
วิธีการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการนอนไม่หลับ 3 ลักษณะ คือ ข่มตาหลับลำบาก หลับไม่สนิท และตื่นเร็วกว่าที่ต้องการอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับปัจจัยที่อาจทำให้มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น การใช้สารเสพติด ภาวะซึมเศร้า ความวิตกจนผิดปกติ ความเจ็บป่วยทางกาย สถานภาพการแต่งงาน ฐานะการเงิน
ผลลัพธ์พบว่า อาสาสมัครที่มีปัญหาการนอนหลับตั้งแต่ 2 ลักษณะขึ้นไป มีแนวโน้มพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้ไม่มีปัญหาการนอนหลับสูงถึง 2.6 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตื่นเร็วกว่าที่ต้องการเป็นปัจจัยเดียวที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายมากที่สุด
"ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า แพทย์ควรประเมินความเสี่ยงฆ่าตัวตายหากผู้ป่วยมีปัญหาในการนอนหลับ แม้ไม่มีปัญหาทางจิตก็ตาม และการแก้ปัญหาการนอนหลับอาจช่วยลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้ นอกจากนั้น การนอนไม่เพียงพออาจกระทบต่อการทำงานของสมอง ส่งผลให้การตัดสินใจและการควบคุมแรงกระตุ้นด้อยประสิทธิภาพลง" นักวิจัย ระบุ
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ "ดับเบิลยูเอชโอ" ประมาณการว่าทั่วโลกมีคนฆ่าตัวตายประมาณ 877,000 คนต่อปี
แนะหมอจับตาดูผู้ป่วยนอนไม่หลับ มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูง!
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ แนะหมอจับตาดูผู้ป่วยนอนไม่หลับ มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูง!