ประกาศผลสอบเอเน็ตฉลุย ไร้ปัญหาเว็บล่ม 50 นักเรียนข้องใจยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบ สกอ.ยันปีนี้ตรวจทุกวิชาไม่มีพลาด ให้ดูได้ตั้งแต่ 8 เม.ย. ด้านอธิการฯมศว ชี้เด็กไทยเรียนอ่อนทุกวิชา เหตุครูสอนจบไม่ตรงสาขา ชูงานวิจัยสมเด็จพระเทพฯ เป็นต้นฉบับแบบเรียนวิชาภาษาไทยให้เข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 4 เมษายน ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประกาศผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต
เพื่อนักเรียนใช้ประกอบการสมัครรับคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2552 โดยประกาศผลคะแนนสอบเอเน็ตทางเว็บไซต์ cuas.or.th ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 3 เมษายน จนถึงช่วงเย็นวันที่ 4 เมษายน นักเรียนสามารถเข้าดูผลการสอบได้โดยไม่มีปัญหาเว็บไซต์ล่มแต่อย่างใด รวมทั้งตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. วันเดียวกันนี้ มีนักเรียนประมาณ 50 คน ทยอยเดินทางมาที่สกอ.เพื่อยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบเอเน็ต เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้ง โดยสกอ.จะเริ่มให้ดูกระดาษคำตอบได้ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน
นางศศิธร อหิงสโก ผู้อำนวยการกลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สกอ. กล่าวว่า
นักเรียนที่มาเขียนคำร้องส่วนใหญ่จะขอดูทุกวิชา เพราะมั่นใจว่าตนเองน่าจะทำคะแนนได้มากกว่าที่สกอ.ประกาศ ในขณะที่สกอ.เองก็มั่นใจว่าคะแนนที่ประกาศผ่านเว็บไซต์ถูกต้อง แต่ก็ยินดีให้นักเรียนทุกคนที่ยังไม่มั่นใจดูกระดาษคำตอบได้ โดยผู้ปกครองสามารถมายื่นแทนก็ได้ แต่ในวันดูกระดาษคำตอบขอให้นักเรียนมาดูด้วยตนเอง ทางสกอ.ได้ตรวจข้อสอบและคำตอบทุกวิชาแล้วไม่มีวิชาใดที่ผิดพลาด ปีนี้จึงไม่มีการยกผลประโยชน์ให้หรือให้คะแนนฟรี เป็นเรื่องที่น่ายินดีของการใช้ข้อสอบเอเน็ตเป็นปีสุดท้าย
ด้านนายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงผลการสอบเอเน็ตที่วิชาส่วนใหญ่ปีนี้นักเรียนสอบได้คะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าปี 2551 ทั้งวิชาภาษาไทย อังกฤษ วิทยาศาสตร์ ว่า
ทุกครั้งที่มีการสอบวัดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเอเน็ต หรือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เมื่อผลการสอบออกมามักพบเด็กไทยอ่อนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย แต่ความจริงแล้วเด็กไทยอ่อนแอด้านวิชาการเกือบทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ เชื่อว่าปัญหาอยู่ที่ครูผู้สอนในแต่ละโรงเรียนมีไม่ตรงตามกลุ่มทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา
"ดังนั้น การจะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จได้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐบาลต้องตั้งหลักให้ได้ว่า
การจะทำให้โรงเรียนเกิดคุณภาพได้ต้องได้ครูที่สำเร็จการศึกษาในวิชาเอกตรงสาขาที่ไปสอนเด็ก ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนแนวคิดนี้และยังคงให้ความสำคัญกับบางกลุ่มสาระวิชา โดยทอดทิ้งบางสาระวิชาไป ก็จะได้เด็กที่อ่อนแอเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ อ่อนแอทั้งทางความคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล อ่อนแอทางศีลธรรม การดูแลสุขภาพ ไม่ใส่ใจต่อคนรอบข้าง ไม่เข้าใจสังคม และเป็นคนเห็นแก่ตัว"
นายวิรุณกล่าว่า
ถึงเวลาแล้วที่ระบบการศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยน แต่เดิมมีการเรียนคณิตศาสตร์โดยการคิดเลขในใจ เพื่อฝึกสมองให้เด็กคุ้นเคยกับตัวเลข หรือวิชาภาษาไทย เดิมมีการเรียนผันวรรณยุกต์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนภาษาไทย แต่ปัจจุบันไม่มีการสอนผันวรรณยุกต์ เด็กไทยใช้วิธีจำเป็นคำๆ เมื่อเจอคำแปลกๆ จึงอ่านไม่ถูก เขียนผิด ทั้งที่การเขียนตามคำบอก เขียนย่อความ เขียนเรียงความ อ่านจับใจความ และท่องบทอาขยาน ล้วนแต่เป็นการฝึกสมองคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้เด็กรู้จักแยกแยะได้ แต่การเรียนการสอนภาษาไทยในรูปแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ครูรุ่นใหม่และศธ.ต้องกลับมาทบทวนดูว่า อะไรคือพื้นฐานสำคัญของระบบการศึกษา
"ผมอยากเสนอว่า มีงานวิจัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในระดับปริญญาเอก ซึ่งได้ศึกษาที่มศว เป็นต้นฉบับแบบเรียน 9-10 แบบเรียน ได้พูดถึงการเรียนภาษาไทยเอาไว้อย่างละเอียด เป็นแนวทางการสอนภาษาไทยให้เข้มแข็ง ถือเป็นพื้นฐานในเรื่องภาษาไทยที่ดีมาก จึงขอเชิญชวนให้ครูภาษาไทยและครูไทยทุกคนได้ศึกษา ซึ่งทางมศวได้ขอพระราชานุญาตนำมาพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านหรือศึกษาได้ที่สำนักหอสมุดกลาง มศว"นายวิรุณกล่าว
ประกาศเอเน็ตฉลุยไร้ปัญหา สกอ.ยันปีนี้ตรวจไม่พลาด อธิการฯมศวชี้เด็กไทยเรียนอ่อนทุกวิชา
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ประกาศเอเน็ตฉลุยไร้ปัญหา สกอ.ยันปีนี้ตรวจไม่พลาด อธิการฯมศวชี้เด็กไทยเรียนอ่อนทุกวิชา