สภาวะดอล์ล่าร์อ่อน-ค่าเงินหยวนจีนแข็งขึ้น

ธนาคารกรุงเทพ วิเคราะห์เมื่อวันที่ 3 เมษายน ถึงภาวะตลาดเงินตราต่างประเทศ รายงานว่า เงินดอลลาร์สัปดาห์นี้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงจากการที่นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นและหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยทางการสหรัฐฯได้เปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการจัดการกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในงบดุลของธนาคารซึ่งตลาดคาดว่าน่าจะส่งผลให้ธนาคารสามารถกลับมาปล่อยสินเชื่อได้ตามปกติรวมไปถึงสัปดาห์ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแผนที่จะเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวในตลาด ซึ่งนักลงทุนคาดว่าจะมีปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบเพิ่มขึ้นมาอย่างมากและทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง จึงทำให้นักลงทุนมีการขายเงินดอลลาร์ออกมา
 
รวมทั้งการที่ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวในตลาดสหรัฐฯลดลงอย่างมากส่งผลให้นักลงทุนเริ่มหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวในตลาดเป็นมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะซื้อตราสารหนี้ประเภทmortgage-backed securities อีก 850,000ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลา 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนั้นเฟดยังวางแผนว่าจะเพิ่มวงเงินสำหรับเข้าซื้อตราสารประเภทmortgage-backed securities เป็น 1.15 ล้านล้านดอลลาร์และนอกจากทางสหรัฐฯที่มีการประกาศเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวแล้วทางอังกฤษและญี่ปุ่นเองก็เตรียมเพิ่มสภาพคล่องให้แก่การปล่อยสินเชื่อภายในประเทศเช่นกันโดยทางอังกฤษจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชนในตลาดเป็นมูลค่ารวมถึง 75,000 ล้านปอนด์ ในช่วงเวลา 3 เดือนข้างหน้า และรัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชนและตราสารทุนในตลาดเช่นกัน
 
ขณะเดียวกันสัญญาณจากทางฟากยุโรปเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปนายฌองคล็อด ทริเชต์ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของยุโรปว่ายังมีโอกาสปรับลดลงจากระดับ1.50% แต่ไม่คิดว่านโยบายดอกเบี้ย0% จะเป็นระดับที่เหมาะสมโดยมองว่ายุโรปยังไม่ได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณในรูปแบบอื่นเลยนอกเหนือจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งทำให้ยุโรปยังมีโอกาสในการใช้มาตรการอื่นในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนอกจากมาตรการดอกเบี้ย
 
อย่างไรก็ตามข่าวของทางการจีน ได้เสนอแนวคิดให้ธนาคารกลางทั่วโลกน่าจะพิจารณานำ SDR ซึ่งเป็นหน่วยเงินของ IMFที่เกิดจากการถัวเฉลี่ยค่าเงินดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และเยนมาใช้เป็นเงินทุนสำรองหลักแทนที่เงินดอลลาร์ และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นายทิโมธีไกเนอร์ ออกมากล่าวแสดงความเห็นค่อนข้างเปิดกว้างต่อแนวคิดดังกล่าวในฐานะของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวได้รับการโต้แย้งจากทั้ง IMF และทางการสหรัฐฯเอง



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์