ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้เข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ยูทูบ (http://www.youtube.com) พบว่า ผู้ที่เข้ามาชมคลิปจำนวนมากต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมที่ ให้เด็กมาเต้นโคโยตี้รูดเสา และเท่าที่ได้ชมพบว่าภาพที่ปรากฏ คือเป็นการจัดกิจกรรมที่จัดในพื้นที่ภายนอกของศูนย์การประชุมไบเทค บางนาจริง และมีการแสดงในส่วนของเครื่องเสียงวิทยุด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ฟันธงว่า เป็นบรรยากาศของงานมอเตอร์โชว์ จริงหรือไม่ ดังนั้นตนจะประสานไปยังทางผู้จัดงาน เพื่อตรวจสอบความชัดเจนก่อน ว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่
"การจัดงานแสดงสินค้าเครื่องเสียงรถยนต์ เกือบทุกครั้งจะต้องมีเรื่องที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น จึงอยากจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ ร่วมจัดกิจกรรมที่เหมาะสมจะดีกว่า" น.ส.ลัดดา กล่าว และว่าการที่นำเด็ก หรือ ผู้หญิงมาเต้นเย้ายวน โชว์เรือนร่าง เช่นนี้ และอยากถามว่าการกระทำแบบนี้ ให้ประโยชน์อะไรต่อสังคมบ้าง เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่เคยมีใครออกมารับผิดชอบ ทั้งนี้ จะรายงานให้นาย ธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้รับทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวด้วย
ด้านนายธีระ กล่าวว่า การที่จะให้เด็กมาเต้นโคโยตี้ เห็นว่า ไม่เหมาะสม ควรให้เด็กมาทำอย่างอื่นจะเหมาะสมกว่า เช่น รำไทย หรือเต้นน่ารักๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันอยากขอร้องผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ หรือผู้ประกอบการว่า ไม่ควรนำโคโยตี้มาเป็นจุดขาย อยากให้ชูคุณภาพของสินค้ามากกว่า จะนำสิ่งวาบหวิวมาเรียกลูกค้า นอกจากนี้ ตนคิดว่า จะต้องมีการหารือกับผู้จัดงานและผู้ประกอบการ เพราะเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำซาก วธ.ควรจะมีการแจกโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้จัดงานที่ไม่มีเรื่องดังกล่าว เข้ามาเกี่ยวข้อง