กรณีองค์พระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเกิดชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก โดยเฉพาะ “ยอดปลีทองคำ” จนทางวัดต้องสั่งปิดซ่อมบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ 6 เดือนก่อน ขณะเดียวกัน กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้ากรรมวิธีการสร้างองค์พระธาตุฯและวัสดุที่ใช้ในยุคโบราณอายุเกือบ 700 ปี เพื่อเป็นกรณีศึกษาของคนรุ่นหลังนั้น
ล่าสุดการบูรณะองค์พระธาตุฯได้แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ประชาชนขึ้นไปสักการบูชาได้แล้ว โดยเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 1 เม.ย. ผู้สื่อข่าวได้เข้ากราบนมัสการพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดดอยสุเทพราชวรวิหารและรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสอบถามถึงการจัดงานฉลองสมโภชองค์พระธาตุดอยสุเทพ ทั้งนี้ พระเทพวรสิทธาจารย์เผยว่า
ทางวัดกำหนดจัดงานทำบุญสระสรงสมโภชองค์พระธาตุดอยสุเทพ และเจริญพระพุทธมนต์ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ท่าน พระองค์ทรงประสูติปีมะแม และองค์พระบรมธาตุฯก็สร้างขึ้นในปีมะแมเช่นกัน ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีมะแมโดยตรง จึงถือว่าเป็นงานสำคัญที่จะได้ประกอบพิธีขอขมาและฉลองสมโภชเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพกล่าวต่อไปว่า
เหตุที่ต้องมีการขอขมาเพราะในระหว่างที่ช่างขึ้นไปทำการบูรณะองค์พระธาตุฯนั้นได้มีการปีนป่ายข้ามไปมาเหนือองค์พระธาตุฯ จึงจะต้องมีการขอขมาลาโทษ กำหนดทำพิธีในวันที่ 2 เม.ย. เวลา 08.00 น. โดยจะมีการสวดเจริญพระพุทธมนต์ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากนั้นจะทำการประกอบพิธียื่นยงโองการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดทั้งหมด และในเวลา 17.00 น. จะมีพิธีมงคลโดยเชิญนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธาน โดยจะมีการทำพิธีเสริมสิริมงคลให้แก่พระธาตุดอยสุเทพและประเทศชาติบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป
พระเทพวรสิทธาจารย์เผยอีกว่า
ในการบูรณะยอดปลีองค์พระธาตุฯลงมาจนถึงปล้องไฉน ซึ่งอยู่บริเวณส่วนกลางขององค์พระธาตุฯนั้นได้ทำการบูรณะเสร็จเรียบร้อยลงแล้ว ยังเหลือเฉพาะส่วนใต้ฐานปล้องไฉนลงไปจนถึงฐานขององค์พระธาตุฯคงจะต้องมีการบูรณะในคราวต่อไป ส่วนเรื่องที่นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาศึกษาโครงสร้างและวัสดุที่คนสมัยโบราณใช้สร้างองค์พระธาตุดอยสุเทพนั้น
เจ้าอาวาสวัดดอยสุเทพฯกล่าวว่า
องค์พระธาตุดอยสุเทพองค์จริงถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ พุทธศักราชที่ 1874 สมัยของพระเจ้ากือนา ปัจจุบันก็มีอายุ 678 ปีแล้ว เท่าที่ทราบองค์พระธาตุฯเคยถูกบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 500 ปีก่อน จากนั้นก็ไม่เคยมีการบูรณะอีกเลย ระหว่างการซ่อมแซมครั้งล่าสุด ทางช่างได้มีการรื้อถอนวัสดุเดิมในส่วนที่ชำรุดออกเกือบหมด ทำให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนใจอยากจะศึกษาถึงขั้นตอนกรรมวิธีการสร้างองค์พระธาตุฯของคนยุคโบราณ จึงขอตัวอย่างทั้งตะปูยึดครอบองค์พระธาตุฯ เศษชิ้นส่วนทองจังโกที่หุ้มองค์พระธาตุฯ และเศษเนื้อดินเนื้อหินที่ก่อเป็นองค์พระธาตุฯไปศึกษา
พร้อมกันนี้ทางเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯได้นำเศษชิ้นส่วนขององค์พระธาตุฯที่รื้อถอดออกมาจากองค์พระธาตุฯมาให้ผู้สื่อข่าวได้ชมอย่างใกล้ชิด เช่น ตะปูที่ใช้ตอกยึดชิ้นส่วนหุ้มองค์พระธาตุฯก็เป็นตะปูเหล็กขนาดใหญ่ รูปทรงสี่เหลี่ยมปลายด้านหนึ่งแหลมเล็ก ส่วนปลายอีกด้านดัดงอเป็นสลักใช้ยึดเกี่ยววัสดุ มีขนาดความยาวตั้งแต่ 2 นิ้ว ไปจนถึง 6 นิ้ว ที่น่าสนใจคือการหุ้มองค์พระธาตุฯแต่โบราณ ช่างได้ใช้วัสดุที่เรียกว่า “ทองจังโก” มาหุ้มองค์พระธาตุฯไว้ โดยทองจังโกมีส่วนผสมของทองคำ ดีบุก และทองแดง มีคุณสมบัติทนทานต่อแดดและฝนอยู่ได้มาหลายร้อยปี
ขณะเดียวกัน ปูนหรือส่วนผสมที่นำมาใช้สร้างองค์พระธาตุฯก็มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ขนาดที่ว่าช่างต้องการเจาะลึกเข้าไปในเนื้อปูนเก่าประมาณ 80 ซม. เพื่อฝังเหล็กยึดโครงสร้างส่วนนอก แต่เจาะได้เพียง 20 ซม. ก็เจาะไม่เข้าแล้ว ทางกลุ่มนักวิชาการกำลังนำตัวอย่างไปศึกษาว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง “สำหรับวัสดุชิ้นส่วนที่ได้จากการบูรณะองค์พระธาตุฯในครั้งนี้ บางส่วนจะแยกเก็บรักษาไว้เพื่อจัดเป็นนิทรรศการให้ความรู้กับผู้ที่สนใจ และบางส่วนจะมีการนำไปเป็นมวลสารจัดสร้างวัตถุมงคลแจกจ่ายให้กับประชาชนในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป” พระเทพวรสิทธาจารย์กล่าวสรุป
เปิดพระธาตุ ดอยสุเทพ
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!