'สุขุมพันธุ์'ผุดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะ หวั่นรัฐบาลไม่มีเงินอุดหนุนเล็งเก็บภาษีน้ำมัน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 มี.ค. ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจโลกกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นโดย กทม. และสถาบันพัฒนาสยาม โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า รายได้ของ กทม.เป็น 1 ใน 4 ของรายได้ของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่ง ตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ. 2550 ตัวเลขของผู้ว่างงานทั่วประเทศอยู่ที่ 520,000 คน ในกรุงเทพฯ 90,000 คน รายได้จากการท่องเที่ยวก็ลดลง จากสถิติปี พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.3 แสนล้านบาท เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ 1.8 แสนล้านบาท
แต่เมื่อเกิดวิกฤติต่าง ๆ นักท่องเที่ยวลดลง 20% รายได้จะหายไปถึง 30,000 ล้านบาท การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็น้อยลงจนต้องกู้เงินต่างประเทศมาใช้
ทำให้ กทม.ต้องช่วยเหลือตัวเองโดยต้องนำเงินสะสมออกมาใช้จ่าย ซึ่งจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่ม โดยกำลังพิจารณาจัดเก็บภาษีน้ำมันลิตรละ 5 สตางค์ ซึ่งจะจัดเก็บได้ปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งกำลังมีการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมประชาชนเข้าไปอีก หากยังไม่จำเป็นตนก็อยากชะลอออกไปก่อน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอสภากทม.อนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ
เช่น การจ้างงานบัณฑิตจบใหม่มาทำงาน การจัดมหกรรมสินค้าราคาถูก โครงการธนาคารเพื่อประชาชน โครงการบ้านยิ้ม เป็นต้น ในส่วนโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจคท์ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายบีทีเอส ที่มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วไม่มีปัญหา นอกจากนี้ตนจะส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีราคาสูงใน กทม.ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรถึง 1 ใน 5 ของพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนรายใหญ่ได้ส่งเสริมให้ปลูกเมล่อน (Melon) ในพื้นที่เขตรอบนอกกทม.เนื่องจากข้อมูลเสนอว่ารายได้จากการปลูกอยู่ที่ 2.4 แสนบาทต่อไร่ และสามารถปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง ซึ่งรายได้มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าข้าว ทั้งนี้ตนมีความเป็นห่วงว่าในสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลจะไม่มีเงินมาสนับสนุนกทม. เพราะโครงการต่าง ๆ ในอนาคต จำเป็นต้องได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น การก่อสร้างและขยายถนน การสร้างเตาเผาขยะ เป็นต้น.