คมชัดลึก :ม.เกษตรฯ ค้นพบ "ปูปากกาทะเล" เชื่ออาจเป็นชนิดใหม่ของโลกบริเวณแนวปะการังเกาะล้าน-เกาะสาก พัทยา
จากการสำรวจทะเลพัทยาในเขตแนวปะการังเกาะล้าน เกาะครก และเกาะสาก ของทีมงานวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เมื่อวันที่ 20-22 มีนาคม 2552 ได้ค้นพบปูปากกาทะเลที่อาจเป็นชนิดใหม่ของโลก โดยมีลักษณะแปลกคือ อาศัยอยู่เป็นคู่ เพศผู้และเพศเมีย กระดองกว้าง 0.8 ซม. ยาว 1.2 ซม. และกว้าง 1.0 ซม. ยาว 1.5 ซม.ตามลำดับ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มปูไม่แท้จริง (Infraorder Anomura) ครอบครัวเดียวกับปูดอกไม้ทะเล (Family Porcellanidae) พบเกาะอาศัยอยู่เป็นคู่บนตัวของปากกาทะเล
ทั้งนี้ ปูปากกาทะเล เป็นปูขนาดเล็ก อาศัยอยู่ร่วมกับปากกาทะเล สัตว์ทะเลกลุ่มหนึ่งที่ฝังตัวอยู่บนพื้นทรายในทะเลในเมืองไทยมีรายงาน 2 ชนิด
โดยปัจจุบันปากกาทะเลมีจำนวนลดน้อยลง เพราะเกิดจากอวนรุนอวนลาก อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมงานสำรวจพื้นที่นอกแนวปะการัง บริเวณหัวแหลมทางทิศเหนือของเกาะสาก เมืองพัทยา ที่ระดับความลึก 14-16 เมตร พื้นท้องทะเลเป็นทรายปนหินก้อนเล็กๆ มีตะกอนมาก ค้นพบสัตว์เกาะติดในกลุ่มปะการังอ่อน กัลปังหา ขนาดเล็ก แส้ทะเล ปะการังดำ และปากกาทะเล กระจายอยู่ทั่วบริเวณ
จากการสืบค้นของ ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงพันธ์ และทีมงานผู้เชี่ยวชาญเรื่องปู พบว่าปูชนิดนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับปู Pseudoporcellanella manolinesis ที่เคยค้นพบใน ค.ศ.1961
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศอาจเป็นได้ว่า ปูที่ค้นพบเป็นปูต่างชนิดกัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งข้อมูลที่ยืนยันได้ ณ ขณะนี้คือการปรึกษากับ ดร.มาซายูกิ โอซาวา ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ทำการศึกษาปูในกลุ่มนี้ ระบุว่าเป็นปูที่หายาก และมีตัวอย่างในการค้นพบน้อยมาก นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงยังพบปูปากกาทะเล ชนิด Porcellnella picta ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ทั่วไปในอ่าวไทย
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ให้ความคิดเห็นว่า ในพื้นที่ทะเลพัทยามีการค้นพบสัตว์แปลกอยู่เสมอหลายชนิด เป็นรายงานแรกของประเทศไทย ดังนั้นจะประสานงานกับเมืองพัทยาและผู้ประกอบการท้องถิ่น จัดทำโครงการสำรวจทะเลบริเวณนี้โดยละเอียด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์พื้นที่และสัตว์หายาก