ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (Real-Time Survey)”
ที่เป็นการสำรวจผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ประเมินความรู้สึกของประชาชนผู้มีสิทธิรับเช็คช่วยชาติ ต่อการบริหารจัดการในการแจกเช็ค และความตั้งใจจะจับจ่ายใช้สอย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิรับเช็คใน 18 จังหวัดของประเทศ จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 1,192 ตัวอย่าง พบว่า
ประชาชนที่ได้รับเช็คช่วยชาติค่อนข้างพอใจต่อการบริหารจัดการให้เช็ค โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับเช็คช่วยชาติ ร้อยละ 82.8 ระบุจะใช้จ่ายทันที ในขณะที่ร้อยละ 17.2 ตั้งใจจะเก็บเอาไว้ก่อน โดยในกลุ่มที่จะใช้จ่ายทันที ร้อยละ 10.3 จะใช้หนี้สิน ร้อยละ 70.6 จะซื้ออาหาร ร้อยละ 52.2 จะซื้อของใช้ และ 0.7 จะนำไปรวมเงินดาวน์ซื้อสินค้า
ดร.นพดล กล่าวว่า สำหรับวงเงินเฉลี่ยที่ตั้งใจจะนำไปใช้จ่ายของประชาชนเท่ากับ 1,558.45 บาท นั่นหมายความว่าในกลุ่มคนที่จะใช้จ่ายทันทีมีวงเงินเฉลี่ยที่จะยังเก็บออมไว้บางส่วนประมาณ 400 - 500 บาท
ประเด็นที่รัฐบาลชุดปัจจุบันของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องเร่งพิจารณาคือ เมื่อถามว่า การบริหารจัดการให้ความสะดวกแก่ประชาชน ระหว่างรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ กับ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลไหนบริการประชาชนได้ดีกว่ากัน
พบว่า ร้อยละ 41.6 ระบุรัฐบาลทักษิณ บริการประชาชนได้ดีกว่า ร้อยละ 20.6 ระบุรัฐบาลชุดปัจจุบันของนายอภิสิทธิ์ บริการได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 37.8 ระบุพอๆ กัน
จากกรณีมีประชาชนรอรับเช็คนานจนเป็นลม ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 57.8 ระบุส่งผลทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเสียภาพลักษณ์ ในขณะที่ร้อยละ 42.2 ระบุไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.9 ระบุควรมีการให้เช็คช่วยชาติเช่นนี้อีกในอีก 6 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ร้อยละ 34.1 ระบุไม่ควรมีอีกแล้ว