มาร์คเลื่อนชี้! ห้ามขายเหล้า


"ครม.มาร์ค"โยนกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายห้ามขายเหล้าเทศกาลสงกรานต์ ก่อนนำเข้าพิจารณาครม.ในสัปดาห์หน้า นายกฯ ยันประกาศใช้ทันสงกรานต์ปีนี้แน่ สธ.เสนอห้ามขายเหล้า 13 เม.ย.วันเดียว "ชุมพล ศิลปอาชา"รมว.การท่องเที่ยวฯ ค้าน อ้างส่งผลกระทบกระตุ้นการท่องเที่ยว แนะเลื่อนประกาศใช้ปีหน้า เลขาฯกฤษฎีกายันพิจารณาเสร็จภายในสัปดาห์นี้แน่ สธ.เตรียมแผน 2 หาช่องออกประกาศสำนักนายกฯ คุมสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขายแทน

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 24 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.ถึงมาตรการการห้ามขายเครื่องดื่มสุราในเทศกาลสงกรานต์ว่า ครม.ยังไม่มีมติในเรื่องดังกล่าว ทางคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติต้องประชุมอีกครั้ง โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน เพราะอย่างไรก็ต้องเร็ว และคิดว่าจะทันในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้แน่นอน ตอนนี้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปเคลียร์ในข้อกฎหมายให้เรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นคณะกรรมการจะประชุมอีกครั้ง เพราะเป็นอำนาจของกรรมการ ที่จะเสนอแนะต่อนายกฯ

ด้านพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ฯ กล่าวหลังการประชุมครม.ถึงการออกมาตรการแอลกอฮอล์ว่า ในที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ คาดว่าจะทราบผลในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่าที่ประชุมครม.กังวลเกี่ยวกับการออกประกาศห้ามขายเหล้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือไม่ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า

ครม.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการออกมาตรการงดขายเหล้า และกังวลว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวและประเพณีต่างๆ
นอกจากนี้มองว่าการห้ามขายเหล้าช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยกระทรวงสาธารณสุขเสนอห้ามจำหน่ายมาแค่วันเดียว คือในวันที่ 13 เม.ย. ในที่ประชุมครม.วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง มีบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะอาจกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จึงเห็นว่าควรให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งจะได้ข้อสรุปก่อนสงกรานต์แน่นอน

ที่ประชุมครม. รัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะสั่งห้ามจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเป็นช่วงเทศกาลที่เขาจะสนุกสนานกัน ซึ่งนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬายังคงเน้นย้ำต่อที่ประชุมครม.ว่า
ไม่เห็นด้วยเพราะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นประเพณีสำคัญของไทย จึงอยากจะให้ยกเว้นการดำเนินการมาตรการตามที่กระทรวงสาธารณสุขออกไปก่อน อย่าเพิ่งบังคับใช้ในปีนี้และครม.ส่วนใหญ่มองว่าการห้ามจำหน่ายสุราไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่จะให้เข้มงวดในมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

พล.ต.สนั่นกล่าวและว่า ส่วนจะห้ามขายเหล้าวันที่ 13 เม.ย. ได้หรือไม่อย่างไร ต้องรอผลการวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและและขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ด้วย

ด้านนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวว่า บรรยากาศในที่ประชุม ครม.พิจารณาเรื่องดังกล่าวกันอย่างครื้นเครง ทุกคนเห็นเป็นไปในทิศทางตรงกันว่า เรื่องนี้น่าจะพบกันครึ่งทาง ระหว่างคนที่เป็นห่วงเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวกับฝ่ายที่ต้องการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการกำหนดวัน เวลา การห้ามจำหน่ายไม่น่าจะมีปัญหา และมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เม.ย. เพียงวันเดียว

"กระทรวงมหาดไทยรับจะมาเข้มงวดในการดำเนินมาตรการป้องกันดูแลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบนถนนสายรองที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จะประสานอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ช่วยกันเข้มงวดและเตือนสติผู้ที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ระหว่างหมู่บ้านและตำบล โดยจะตั้งจุดตรวจเพื่อเตือนสติเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าว่าจะลดยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากปีละ 300-400 ราย ให้เหลืออย่างมากที่สุด 200 ราย ถือว่าดีที่สุดแล้ว" นายถาวร กล่าว

ด้านคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ว่า คณะกรรมการกฤษฎีการับมอบหมายให้ตีความกฎหมายแล้ว จะพยายามดำเนินการโดยเร่งรัดที่สุด เนื่องจากเวลาใกล้เข้ามาเต็มที ครม.สงสัยในกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ซึ่งอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ระหว่างเวลา 11.00-15.00 น. และ 17.00-24.00 น.

ขณะที่พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 28 ให้อำนาจกับคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการกำหนดเวลาห้ามขายสุรา ว่าจะให้ใช้ฉบับใด หากใช้แล้วมีปัญหาขัดแย้งหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากผลการตีความออกมาแล้วคงปฏิบัติได้ตามนั้น แต่ต้องขอพิจารณาก่อน จะพยายามทำให้เร็วที่สุด ไม่ให้เกินภายใน 2 สัปดาห์ ไม่ได้หนักใจ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ครม.ใช้เวลาหารือถึงมาตรการห้ามขายเหล้าช่วงสงกรานต์เกือบครึ่งชั่วโมง โดยนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข รายงานผลสรุปของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติให้รับทราบ และเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องการขัดกันของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ หากเห็นว่าไม่ขัด ก็จะออกประกาศห้ามขายเหล้าในวันที่ 13 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น.

อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีส่วนใหญ่ต่างแสดงความเห็นค้านข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เช่น นายชุมพลกล่าวว่า ขอให้ดูความเป็นจริง เพราะช่วงเทศกาลสงกรานต์ นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อยๆ หากจะประกาศห้ามขายเหล้า อยากให้ไปเริ่มทำในปีหน้าดีกว่า เพราะปีนี้ประชาสัมพันธ์การจัดงานเทศกาลสงกรานต์ไปมากแล้ว ถ้าห้ามขายเหล้า อาจกระทบกับภาคเอกชนได้ เพราะเริ่มเตรียมงานกันแล้ว

ท้ายที่สุดทางนายมานิต จึงกล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุม โดยนายกฯ กล่าวสรุปว่าให้รอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับขัดกันหรือไม่

นายชุมพล เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกระทรวงสาธารณสุขที่จะห้ามขายเหล้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเห็นว่ามีผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตั้งใจจะมาเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ไทย ช่วงวันสงกรานต์อย่างเต็มที่ แต่หากรัฐบาลห้ามขายเหล้าช่วงนี้ เกรงว่าจะยิ่งเป็น การซ้ำเติมสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นคน ละเรื่องกับการรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยาน ยนต์เกิดจากความประมาท ทำให้คนเสียชีวิต เป็นเรื่องที่ห้ามคนดื่มไม่ได้

อยากให้ทุกฝ่ายเห็นใจภาคการท่องเที่ยว ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ลดอุบัติเหตุด้วยการงดดื่มเหล้า แต่ถ้าคนจะตาย มันก็ต้องตาย ไม่มีใครห้ามได้ ขณะที่ส่วนตัวมองว่าปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตท่องเที่ยวมามากแล้ว จึงอยากให้ยกเว้นมาตรการนี้ไปก่อน

ขณะนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวกำลังกลับมาดีขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเพียง 10% จากเหตุการณ์ปิดสนามบินที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 20% กระทรวงพยายามฟื้นวิกฤตการท่องเที่ยวให้กลับมาปกติ แต่ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น หากสถานการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเที่ยวในไทยเท่าเดิมที่ระดับ 16 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 5 แสนล้านบาทเมื่อไหร่ ผมจะเห็นด้วยกับการให้ห้ามขายเหล้าเต็มที่อยู่แล้ว
นายชุมพลกล่าว

นายมานิต ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมครม.มีมติสั่งให้สคก.เร่งพิจารณาข้อสอบถามทางกฎหมายเรื่องกำหนดวันห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เทศกาลสงกรานต์ให้เสร็จทันภายในสัปดาห์นี้ เพื่อนำข้อสรุปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ในสัปดาห์หน้าทันที เพื่อให้ออกประกาศสำนักนายกฯ บังคับใช้ทันในเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุปจากสคก. ทางคณะกรรมการนโยบายฯ จะประชุมเพื่อหามาตรการรองรับ โดยอาจใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกฎควบคุมสถานที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

"ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา มีตัวแทนจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ให้ความเป็นห่วงว่าการออกกฎห้ามจำหน่ายจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ จึงอยากให้มีการผ่อนปรนมากกว่านี้ ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่า การห้ามจำหน่าย กับการห้ามดื่มอะไรจะส่งผลกระทบหนักกว่ากัน เพราะสธ. เสนอให้ห้ามเฉพาะการจำหน่ายในวันและเวลาที่กำหนดเท่านั้น ไม่ได้ห้ามดื่ม ดังนั้นผู้ที่ต้องการดื่มสามารถหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนตลอดทั้งเดือน จะมีการรณรงค์ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้" นายมานิต กล่าว

ด้านน.พ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ กล่าวว่า

สธ.เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมครม.เป็นวาระจรจากที่คณะกรรมการนโยบายฯ มีมติให้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาพิจารณา โดยหารือ 3 ประเด็น คือ

1.การกำหนดวันห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถทำได้หรือไม่

2.สามารถกำหนดวันห้ามจำหน่าย รวมถึงยกเว้นให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงแรม จำหน่ายได้ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. ได้หรือไม่ ทั้งข้อ 1 และ 2 เป็นการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และ

3.สามารถออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภค และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้หรือไม่ ซึ่งออกตามมาตรา 31 และ27 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขณะนี้ถือว่าคณะกรรมการนโยบายฯ มีมติเห็นชอบให้ควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเทศกาลสงกรานต์แล้ว แต่ยังติดขัดเรื่องความถูกต้องของกฎหมายเท่านั้น จึงต้องสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อความถูกต้องและมั่นใจยิ่งขึ้น

หากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าสามารถทำได้ ไม่ขัดกับปว. ก็เหลือเพียงการพิจารณากำหนดวันห้ามจำหน่ายเท่านั้น ขณะนี้เริ่มร่างประกาศสำนักนายกฯ เรื่องนี้แล้ว โดยผู้ฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" น.พ.สมานกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์