ปัญหา "เด็กติดเกมคอมพิวเตอร์" ทั้งเกมออนไลน์และเกมทั่วๆ ไป ซึ่งมีเนื้อหารุนแรง-ลามกในเมืองไทยทวีความน่าวิตกมากขึ้น
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ก่อน ผศ.น.พ.ชาญวิทย์ พรนภดล จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งเปิดเผยผลสำรวจร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พบว่า เด็กติดเกมในไทยมีอายุน้อยลงตามลำดับ ขณะนี้อยู่ที่ 11 ขวบ แต่อีก 2 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 5 ขวบครึ่ง ทั้งยังมีอาการ "ลงแดง" เมื่อไม่ได้เล่น บ่มเพาะพฤติกรรมทางลบ ฯลฯ ภาครัฐจึงควรยกปัญหาขึ้นมาแก้ไขในระดับ "วาระแห่งชาติ"
ข่าวสด "หลาก&หลายวิทยาการ" นัดสัมภาษณ์พิเศษ คุณศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ซึ่งเกาะติดงานด้านนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อสอบถามมุมมองที่มาและการแก้ไขปัญหาสู่สังคม
ช่วงปิดเทอมเด็กจะมีปัญหาเรื่องเล่นเกมมากขนาดไหน
ช่วงปิดเทอมเป็นช่วงที่มีปัญหามาก เพราะเด็กจะเล่นเกมเยอะมาก เพราะเป็นช่วงที่เด็กมีเวลา พ่อแม่ไม่ได้หยุดด้วยทำให้ไม่มีเวลาดูแล เด็กก็จะอาศัยช่วงนี้ ถ้าหากพ่อแม่ไม่ได้จัดเตรียมโปรแกรมอะไรไว้ เช่น เรียนกวดวิชา หรือกิจกรรมพิเศษ เด็กก็จะเล่นเกม ซึ่งเกมปัจจุบันนี้มีให้เลือกเล่นเยอะมาก และมีส่วนล่อใจดึงดูดเด็กเยอะขึ้น เกมสนุกขึ้น มีความสมจริง ฟอรั่มของเกมก็มีหลากหลาย ทั้งเกมแบบพกพา คล้ายกับโน้ตบุ๊ก หรือพวกโทรศัพท์มือถือราคาไม่แพงตอนนี้ก็มีจอสีสวยๆ มีตัวละครต่างๆ ให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมเข้าไปในเกมมากขึ้นทำให้สนุกจนติด เพราะเขาจะมีกิจกรรมทำมากกว่าการนั่งดูทีวีอย่างเดียว
เกมบน "มือถือ" ทำให้เด็กติดเกมได้ด้วย
ได้ค่ะ เพราะเกมบนมือถือก็มีอะไรให้เด็กได้เล่นได้เยอะ บางคนเวลานั่งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน จะหยิบมือถือขึ้นมาใช้นิ้วโป้งกดเล่นจนไม่ได้สนใจอะไร เขาใช้นิ้วคล่องมาก นอกจากนี้ ยังมีพวกเกมพกพา เมื่อก่อนราคาแพงเป็นหมื่นขึ้นไป แต่ตอนนี้เหลือเพียงห้าหกพันบาทเท่านั้น ทำให้เด็กซื้อได้ง่าย เอาไปเล่นตามที่ต่างๆ เวลาว่างเมื่อไหร่ก็จะหยิบขึ้นมาเล่น และต้องการเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ
ผลเสียที่มีต่อเด็กมีอะไรบ้าง
"สิ่งที่เราห่วงมากเป็นอันดับแรก คือ เรื่องของเวลากับการเล่นเกม เพราะเด็กจะเล่นเกมมากเกินไป โดยเฉพาะเกมต่อย ตี ยิงกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อใช้เวลากับเกมพวกนี้มากๆ เด็กจะซึมซับความรุนแรงเข้าไป ทำให้ก่อความรุนแรงขึ้นได้ เหมือนกับที่เคยเป็นข่าวว่ามีเด็กก่ออาชญากรรม จี้แท็กซี่ เพราะดูจากเกม เห็นว่าไม่ใช่เรื่องยากถ้าจะทำ ถ้ารวมกับพื้นฐานครอบครัวของเด็กแล้วอาจจะทำให้เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ก่อความรุนแรงได้ ประเด็นที่สองเกี่ยวกับด้านสุขภาพ การเล่นเกมโดยไม่ได้ลุกไปไหน ไม่ดีต่อสุขภาพของเด็กอยู่แล้ว และการเล่นเกม สมองเด็กจะได้รับการพัฒนาน้อยมาก ใช้สมองน้อย เป็นเหมือนการเสพติด เมื่อใช้เวลามากๆ ทำให้สมองพัฒนาได้น้อยตามไปด้วย โดยปกติแล้วถ้าเป็นช่วงที่ไม่ปิดเทอมจากข้อมูลเราพบว่า เด็กใช้เวลาเล่นเกมไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แต่ถ้าเป็นช่วงปิดเทอมเด็กก็จะใช้เวลามากกว่าปกติ
กลุ่มเด็กที่เล่นเกมอยู่ที่อายุประมาณเท่าไหร่
มีเกือบทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยประถม ไปจนกระทั่งวัยทำงานเราก็ยังพบอยู่ บางคนติดตั้งแต่เป็นเด็ก พอมาทำงานก็ยังหาเวลาเล่นอยู่เหมือนกัน บางคนถ้าแบ่งเวลาได้ไม่ทำให้เกิดปัญหา แต่บางคนเล่นถึงขนาดเสียการเสียงานไปเลยก็มี ดังนั้น หากมีการปลูกฝังวินัยตั้งแต่เด็กก็จะแก้ได้ เพราะเมื่อโตขึ้นเขาจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ มีงานต้องทำ ก็จะควบคุมดูแลตัวเองได้ แต่ถ้าไม่ได้ฝึกเรื่องความรับผิดชอบมาตั้งแต่เด็กก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาจนถึงตอนโต
อัตราการติดเกมระหว่างชายกับหญิง
ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชายมากกว่า เล่นเกมหลากหลาย กลุ่มที่โตหน่อยก็เล่นพวกต่อยตี ยิง ฟัน ต่อสู้ แต่ถ้าเป็นเด็กประถมจะเล่นพวกออกบันเทิง เช่น การผจญภัย เก็บสะสม เก็บของ สร้างบ้านสร้างเมือง เป็นต้น ในขณะที่ถ้าเป็นพวกวัยรุ่นก็จะมีพวกเกมลามกบ้าง ส่วนเกมจีทีเอก็ยังมีให้เล่นอยู่ เกมพวกรุนแรงนี้มีผลมากต่อเด็ก จากผลการวิจัยของอดีตนาวิกโยธินสหรัฐพบว่าการฝึกทหารของสหรัฐในเริ่มแรกจะเป็นการฝึกจิตใจก่อนในการที่จะให้ "ยิงคนจากเกม" เป็นเทคนิคที่เขาใช้ทำให้ต่อมาทหารเหล่านั้นก็จะสามารถยิงคนได้อย่างง่ายดาย เพราะฝึกมาจากเกม ดังนั้น เกมพวกนี้จึงมีผลอย่างมาก ในเมืองไทยเราก็พบเคสที่เด็กต่อยหน้าพ่อแม่ เมื่อแม่ไปห้ามไม่ให้เล่นเกม
วิธีแก้ปัญหาที่อยากแนะนำ
การแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมต้องแก้ตั้งแต่เริ่มแรกที่เด็กจะเริ่มเล่นเกม พ่อแม่จะต้องให้คำแนะนำ รวมทั้งมีข้อตกลงหรือมีกติกาในการเล่นเกมด้วย เช่น ให้เล่นวันละประมาณเท่าไหร่ และก่อนจะเล่นเกมเด็กจะต้องทำหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบให้เสร็จเสียก่อน ซึ่งพ่อแม่ต้องกำหนดให้เด็กทำเพื่อความรับผิดชอบ นอกจากนี้ อาจจัดตารางการทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น การออกไปออกกำลังกายข้างนอกกับครอบครัว การเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมบันเทิงอื่นๆ บ้าง สลับกันไปหลากหลายเพื่อไม่ให้เด็กเบื่อ และเลิกคิดเฉพาะแต่กับการเล่นเกม ก็จะสกัดกั้นไม่ให้เด็กติดเกมได้ ปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นปัญหาที่พบทั่วโลก ที่สำคัญที่สุดคือการดูแลจากผู้ปกครอง
ส่วนการแก้ไขที่บอกให้ "ปิดเซิร์ฟเวอร์" คิดว่าเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เพราะถึงปิดตรงนี้เขาก็ไปหาที่ใหม่ ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย หากเด็กแยกแยะได้ก็ไม่น่ามีปัญหา อย่างเด็กแข่ง "โอลิมปิก" เรายังพบเลยว่าก่อนจะไปแข่งวันรุ่งขึ้นตอนกลางคืนยังเล่นเกมอยู่เลย แต่เด็กแยกแยะได้ก็ไม่เป็นปัญหา