วานนี้ (19 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลจะออกพ.ร.ก.ขยายเพดานกู้เงิน ว่า
หลักก็คือภาคการส่งออกหดตัวตามการค้าโลก เงินตรงนี้หายไป และมีผลมาถึงรายได้ของรัฐบาล ซึ่งถ้ารัฐบาลอยู่เฉยๆคนจะตกงาน เศรษฐกิจหดตัว รัฐบาลก็ต้องใช้จ่าย คือ จัดเก็บภาษีเพิ่ม หรือขายทรัพย์สมบัติของชาติ กู้เงิน ซึ่งเห็นว่า การกู้เงินเหมาะสมที่สุด ส่วนจะกู้เท่าไหร่อย่างไร กระทรวงการคลังต้องไปประเมินตัวเลขและมาดูเงื่อนไข ข้อจำกัดทางกฎหมาย ซึ่งถ้ามีข้อจำกัดทางกฎหมาย ก็ต้องมาดูกันต่อว่าจะใช้วิธีการใด ซึ่งการให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินก็เป็นวิธีหนึ่งและเคยทำมาในอดีต
ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจสัปดาห์หน้าจะสามารถตัดสินใจการออกพ.ร.ก.ได้เลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาถึงเรื่องการใช้จ่ายการลงทุนมากกว่า
หลังจากได้ตัวเลขมาแล้วจึงจะมาดูว่า การจัดหาเงิน เพื่อลงทุนจะนำมาจากไหน อย่างไรก็ตามการตัดสินใจต้องทันต่อการแก้ปัญหาอาจจะเสร็จในเดือนหน้า แต่อาจไม่ได้เป็นพ.ร.ก.อาจเป็นพ.ร.บ.ก็ได้ ส่วนเพดานจะเป็นเท่าไหร่นั้นให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปกำหนดมา อย่างไรก็ตามหากมีการพิจารณาว่าพ.ร.ก.เงินกู้ไม่เข้าเงื่อนไขก็ไม่ต้องเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร
เมื่อถามถึงการที่ ธปท.ออกมาเตือนว่า เงินกู้ระยะสั้นจะทำนานๆ ไม่ได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถูกต้อง เรื่องนี้รัฐบาลจะนำเข้าสู่สภาในวันที่ 24 มี.ค.นี้
และเริ่มใช้ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง หรือไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่ที่พูดกันก็คือถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ใน 2-3 ปี ข้างหน้า ก็ต้องเตรียมเปิดช่องไว้ให้กับรัฐบาลในการหาเงินมาลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการที่ภาคเอกชนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพูดความจริงว่าเศรษฐกิจจะแย่อีกกี่ปี จะได้เตรียมตัวถูก
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลพยายามบอกอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ตนเตือนมาตลอดว่า จะหวังให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในแดนบวก อาจจะต้องรอถึงไตรมาสสุดท้าย
และหลังกลับมาจากอังกฤษก็ยังเตือนอยู่ว่า ต่างประเทศก็ยังเป็นห่วง เศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ 2-3 วันที่ผ่านมาตลาดของสหรัฐฯ กลับมีการตอบสนองในทางบวก จึงทำให้เห็นว่าสถานการณ์ยังไม่นิ่ง เราต้องดูสถานการณ์สหรัฐฯ เป็นหลัก แต่อยากบอกว่ ารัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนประมาท แต่ไม่ต้องการให้ตื่นตกใจ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ก็พอขับเคลื่อนไปได้.