เวลา 11.00 น. วันที่ 17 มี.ค. ที่วัดบุญกันนาวาส ม.1 ต.ไทรน้อย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดเก่าสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและตั้งติดแม่น้ำเจ้าพระยา
พบว่า ขณะปรับปรุงด้วยการดีดยกระดับพระอุโบสถเก่าของวัดให้สูงพ้นน้ำท่วมอีก 2.5 เมตร พบพระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่ฝังอยู่ใต้ฐานและพระเครื่องชนิดต่างๆ ห่อไว้ รวมทั้งพระสมเด็จวัดระฆังประมาณ 30 องค์ บรรจุอยู่ในกระปุกตั้งฉ่ายแก้วใสแบบโบราณ โดยมีปูนฉาบปิดฝาเอาไว้อย่างสนิท หลังจากที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป ได้มีประชาชาชนเข้ามาดูกันเป็นจำนวนมาก
ต่อมานายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอบางบาล นายเอนก สีหามาตย์ ผอ.สำนักโบราณคดีที่ 3 พระนครศรีอยุธยา นายสุชาติ เสกศรี วิศวกรควบคุมการปรับปรุงพระอุโบสถ กรรมการวัดและไวยาวัจกร เข้าร่วมตรวจสอบ
พบว่า วัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และล่าสุดสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานทอดผ้าพระกฐินเมื่อปลายปี"51 และทรงดำริให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถให้สูงพ้นน้ำท่วม โดยพระราชทานทุนทรัพย์จากการทอดผ้าพระกฐินจำนวน 6 ล้านกว่าบาทในเบื้องต้น และมีประชาชนบริจาคเพิ่มสมทบอีกเป็นจำนวนมาก
ด้านนายวิทยากล่าวว่า การขุดค้นพบพระขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นพระโบราณใต้ดินที่อยู่ใต้ฐานชุกชีนี้ ถือเป็นเรื่องสิริมงคล
ซึ่งชาวบ้านที่มาพบต่างเรียกกันว่า หลวงพ่อเพชร เพราะดวงตาของพระพุทธรูปที่พบมีลักษณะเป็นอัญมณี เบื้องต้นประสานงานให้ตำรวจและฝ่ายปกครอง ในเขตอำเภอบางบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันมาร่วมดูแลรักษาร่วมกับประชาชน เพราะเป็นสมบัติของชุมชน เป็นสมบัติของชาติ โดยทางจังหวัดจะได้ทำหนังสือรายงานเหตุการณ์ต่อสำนักงานราชเลขาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทราบต่อไป
ด้านนายสุชาติกล่าวว่า ตนพร้อมคนงานได้เริ่มดำเนินการขุดฐานล่างของพระอุโบสถขนาดความกว้าง 3 วา 3 ศอก และ ยาว 10 วา 3 ศอก
เพื่อขุดให้พบฐานคานคอดินของพระอุโบสถจากนั้นจะได้ตัดฐานพระอุโบสถให้ขาดจากคานคอดิน เพื่อยกพระอุโบสถทั้งหลังขึ้นและดำเนินการมาได้ 4 เดือนแล้ว โดยจะใช้เวลาทั้งหมดในการยกพระอุโบสถเป็นเวลา 6 เดือน วันนี้ถึงขั้นตอนขุดใต้ฐานองค์ชุกชีของพระประธานในพระอุโบสถ เมื่อขุดลงไปพบว่าที่ด้านล่างของฐานชุกชีในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่ถูกดินฝังไว้ใต้ฐานชุกชีจำนวน 1 องค์ ด้านนอกเป็นเนื้อปูนปั้น ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 35 นิ้ว สูง 52 นิ้ว สภาพสมบูรณ์สวยงาม และยังพบพระเครื่องอีกจำนวนหนึ่ง โดยในส่วนของพระเครื่องได้นำเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟของอ.บางบาล
ด้านนายเอนกกล่าวว่า พระอุโบสถแห่งนี้สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง
โดยพระพุทธรูปที่พบเป็นพระปูนปั้น ด้านในเป็นแกนอิฐ เชื่อว่าจะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในช่วงการปฏิสังขรณ์ช่วงยุครัชกาลที่ 4-5 หรือก่อนหน้านั้น แต่ก็เชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้จะมีอายุในช่วงประมาณ 150 ปีเป็นอย่างน้อย ด้านพระครูปลัดทองหล่อ โชติโก อายุ 62 ปี เจ้าอาวาสวัดบุญกันนาวาส กล่าวว่า การบูรณะหรือขุดค้นได้รายงานให้คุณหญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้จัดการและอาจารย์ใหญ่โรงเรียนจิตรดาทราบอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้กราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึงความคืบหน้าการก่อสร้าง ในการบูรณะครั้งนี้ต้องเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากในปลายปี 52 นี้แน่นอน ส่วนเรื่องที่พบพระทราบจากประวัติที่เล่าต่อกันมาว่าในการบูรณะพระอุโบสถครั้งหนึ่งมีพระมหาสาหร่าย จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ นำพระสมเด็จวัดระฆังมาใส่เอาไว้ใต้ฐานพระประธาน