ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานของไทยล่าสุด เดือน ม.ค.
พบว่าเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว เริ่มส่งผลชัดเจนต่อแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างชัดเจน โดยล่าสุดพบว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ มีทั้งสิ้น 11,186 คน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 26.2% ขณะเดียวกัน รายได้ส่งกลับของแรงงานไทยในต่างประเทศ เดือน ม.ค. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.4% โดยมีเงินส่งกลับทั้งสิ้น 4,637 ล้านบาท และลดลงจากเดือน ธ.ค.51 จำนวน 571 ล้านบาท
ส่วนสถานการณ์แรงงานในประเทศเดือน ม.ค. มีคนว่างงานและผู้จบใหม่แห่กันมาสมัครงานใหม่เพิ่มขึ้นมาก
โดยมีผู้สมัครงานใหม่ 62,252 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 73.2% แต่หากพิจารณายอดคงค้างตำแหน่งงานว่างที่มีอยู่ขณะนี้มีเพียง 25,588 ตำแหน่ง ลดลงจากช่วงปีก่อน 27.8% โดยมีการบรรจุงานใหม่เดือน ม.ค. 13,562 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 0.6% และจากการติดตามสถาน-การณ์แรงงานของ ธปท.พบว่า การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องกัน นับถึงเดือน ม.ค.นี้ เป็นเดือนที่ 9 และการจ้างงานในภาคบริการเริ่มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับการใช้กำลังการผลิต และดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงมากในเดือน ม.ค. และในช่วงต่อไปยังพบว่ามีสัญญาณการอ่อนตัวของการจ้างงานต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างนั้น ล่าสุด สิ้นสุดปี 51 มีสถานประกอบการที่เลิกจ้างพนักงานทั้งสิ้น 21,063 แห่ง มีพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 211,572 คน ขณะที่ผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษามีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1.6% ของผู้มีงานทำทั้งหมด 37.98 ล้านคน ในเดือน พ.ย.51 เพิ่มเป็น 2.2% เดือน ธ.ค.51
ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำกรอบวงเงินงบประมาณปี 53 ที่จะยื่นขอจัดสรรงบทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท
แบ่งเป็นงบปกติ 6,000 ล้านบาทและงบพิเศษ 12,000 ล้านบาท โดยงบพิเศษจะนำมาใช้จ่ายในโครงการดูแลภาคอุตสาหกรรม เพื่อชะลอการปลดแรงงานช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นจำนวนคนตกงานจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เพราะการขอรับการจัดสรรงบ ประมาณพิเศษกลางปี 52 ที่ขอไป 16,000 ล้านบาท แต่ได้กลับมาเพียง 500 ล้านบาท ซึ่งหากปี 53 ได้รับจัดสรรงบน้อยเหมือนที่ผ่านมา คงไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมได้
“ภายใต้กรอบวงเงินงบปี 53 ได้กำหนดโครงการเสร็จแล้ว โดยงบพิเศษเพิ่มเติมเน้นดูแลเพื่อชะลอการเลิกจ้างงานภาคอุตสาหกรรมหลักๆที่เป็นปัญหา เช่น ยานยนต์, ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์และอาหาร”