นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า
สศช. ได้คาดการณ์ว่าในปี 52 จะมีผู้ว่างงานเฉลี่ย 900,000-1.3 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 2.5%-3.5% ของกำลังแรงงานรวมที่มีประมาณ 37.70 ล้านคน ภายใต้สมมุติฐานว่าเศรษฐกิจยังถดถอยที่ -1% หรือไม่ขยายตัว (0%) ซึ่งในไตรมาสแรกอัตราว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นมากตามฤดูกาลผลิตสินค้าเกษตรและมีผู้จบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ สศช.เชื่อว่า
จากฐานะเงินกองทุนสะสมของกองทุนประกันสังคมที่ล่าสุดมีอยู่เพียง 36,995 ล้านบาท และ ครม.ล่าสุดยังได้เพิ่มอัตราการจ่ายเงินชดเชยเพื่อประกันการว่างงานจาก 180 วันเป็น 240 วัน ไปจนถึงสิ้นปี 52 จะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้จำนวน 1 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าวางใจ
“ภาระการจ่ายเงินชดเชยของกองทุนฯจะสูงขึ้นในปี 52 ตามแนวโน้มการว่างงาน แต่ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง กับการลาออกเองหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างแตกต่างกัน กรณีสูงสุดหากถูกเลิกจ้างงานประมาณ 500,000-600,000 คน กองทุนฯต้องจ่ายเงิน ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่รายรับจากเงินสมทบมีแนวโน้มลดลงและมีการขยายเวลาการรับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น”
นางสุวรรณี กล่าวว่า
ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมให้การคุ้มครองผู้ประกันตนกรณีว่างงานประมาณ 8.78 ล้านคน โดยมีรายรับจากเงินสมทบในปี 51 ประมาณ 8,000 ล้านบาท มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนในไตรมาสที่ 4 จำนวน 620.4 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 14.8% ขณะที่ทั้งปี 51 ได้จ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนเฉลี่ย 65,205 รายต่อเดือน คิดเป็นเงินรวมทั้งหมด 2,420 ล้านบาท และในเดือน ม.ค. 52 ได้จ่ายประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตน 91,543 คน คิดเป็นเงิน 262.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.8%
อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลได้แก้ไขปัญ หาเศรษฐกิจในหลายมาตรการ เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานให้ได้ 500,000 คน ภายในปี 52 นี้ แต่จากการสำรวจของ สศช.ใน 9 จังหวัดที่มีการจ้างงานมาก พบว่ามีลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการ เพราะไม่รู้สิทธิหรือขั้นตอน ขณะเดียวกันยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างและยังมีความล่าช้าในการบริหารจัดการ รวมถึงกฎหมายที่ไม่ครอบคลุม
ทั้งนี้รัฐบาลจึงควรมีการดำเนินการใน 5 ประเด็น คือ
เร่งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิหรือขั้นตอน, ปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้ผู้ถูกเลิกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ และช่วยเหลือโดยจัดหางานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ, ร่วมมือกับนายจ้างในการฝึกทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการและใช้ประโยชน์ได้จริงและสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของลูกจ้างเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล