วันที่ 8 มี.ค. นายมานพ แก้วบูชา ศิลปินแห่งชาติ สาขาประติมากรรม ปี 2549 เปิดเผยว่า อดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้ไม้ในการทำเครื่องดนตรีไทยเป็นส่วนใหญ่
แต่ขณะนี้มีปัญหาทรัพยากรไม้ลดลง ดังนั้น จึงได้คิดค้นสิ่งที่จะมาทดแทนไม้ในการทำเครื่องดนตรีไทย โดยที่ทดลองทำฆ้องมอญและระนาดไทยด้วยไฟเบอร์กลาส เพราะเป็นวัสดุที่ผสมระหว่างโปลีเอสเตอร์ เรซิน กับใยแก้ว หรือที่เรียกว่าพลาสติกเสริมกำลัง คล้ายกับคอนกรีตเสริมเหล็ก
มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ทนแดดทนฝน ทนสารเคมี น้ำหนักเบา ต่างกับพลาสติกทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีราคาถูกกว่าไม้มากเช่น ฆ้องมอญทำจากไม้ 1 วง ราคา ประมาณ 6 หมื่นบาท หากฆ้องมอญทำจากไฟเบอร์กลาส 1 วง ราคาประมาณ 15,000-20,000 บาทเท่านั้น ถือว่าไม่แพงมาก และยังทำให้เครื่องดนตรีไทยแพร่หลาย มากยิ่งขึ้น จากการศึกษาพบว่า ขณะนี้ในวงการการผลิตเครื่องดนตรีไทยยังไม่มีใครคิดค้นวิธีดังกล่าวได้ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จึงถือเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถผลิตเครื่องดนตรีไทยด้วยไฟเบอร์กลาสได้
ด้านนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า การคิดค้นดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน
ประชาชนมีส่วนในการอนุรักษ์ดนตรีไทย อย่างในงานพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ผ่านมา ในส่วนของเทวดา นางฟ้าสัตว์หิมพานต์ก็ทำจากไฟเบอร์กลาสทั้งสิ้น แต่แนวคิดนำไฟเบอร์กลาสมาประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องดนตรีไทยจึงเป็นสิ่งที่น่ายินดี กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมให้การสนับสนุนทำให้ศิลปินมีอาชีพ ที่สำคัญทำให้ราคาเครื่อง ดนตรีถูกลง นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้มีการดำเนินการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของการคิดค้นครั้งนี้ด้วย
ใช้ชื่อวงว่า ปี่พาทย์ จำนง แก้วบูชา นายมานพได้สืบทอดสายเลือดนักดนตรีตั้งแต่จำความได้ หลงใหลในรสชาติดนตรีมาตั้งแต่เด็ก สามารถแต่งเพลง และบรรเลงได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะเครื่องดนตรีซึ่งส่วนใหญ่ทำจากไม้ โลหะ และหนังสัตว์