นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ วันที่ 4 มี.ค.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังจะยืนยันมาตรการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ตามที่ 4 องค์กรหลัก อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้เสนอมาเพื่อให้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมด้วยว่า
ในบางข้อเสนอขอความช่วยเหลือนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วยตั้งแต่เริ่มต้นเสนอข้อเรียกร้องแล้ว แต่เมื่อภาคเอกชนเสนอมากระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะตัวกลางก็ต้องเสนอต่อ ครม.เศรษฐกิจตามขั้นตอน
ไม่เห็นด้วยช่วยคนงาน-ลดภาษี
นายสรยุทธ์กล่าวว่า ข้อเสนอที่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วยกับภาคเอกชนประกอบด้วย
1. การลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 3% เนื่องจากไม่เหมาะสม เช่นหากรถยนต์ราคาคันละ 600,000 บาท หากได้รับการลดภาษีดังกล่าวก็จะลดราคาจำหน่ายได้เพียงคันละ 15,000 บาทเท่านั้น และไม่สามารถกระตุ้นยอดขายได้ปีละ 50,000 คันได้จริงตามที่เอกชนประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เพราะยอดขาย 50,000 คันนั้น เป็นตัวเลขยอดขายในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง แต่ขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำคงไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้ แม้จะมีการลดภาษีให้ และอาจเป็นข้ออ้างให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ แบตเตอรี่มาเรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตให้ตามมา
2. ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่จะให้กระทรวงแรงงานนำเงินประกันสังคมมาใช้ในโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ เดือนละ 5,000 บาทต่อคนต่อเดือน รวม 4 เดือน โดยมีจำนวนคนงานที่จะช่วยชะลอการปลดแรงงานได้รวม 40,000 คน คิดเป็นงบประมาณรวม 800 ล้านบาท เพราะหากทำเช่นนี้จริงแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆก็อาจเรียกร้องขอความช่วยเหลือตามมา และเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องหาทางรักษาการจ้างงานไว้ให้ได้
สำหรับข้อเสนอให้ธนาคารของรัฐ
อาทิธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อรถยนต์ รถปิกอัพให้แก่เกษตรกร เรื่องนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังจะตัดสินใจข้อเสนอดังกล่าว แต่เรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นด้วย เพราะปัจจุบันการซื้อรถยนต์คันใหม่ หรือคันแรกของประชาชน 80% เป็นการซื้อเงินผ่อน และขณะนี้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของธุรกิจลิสซิ่งมีความเข้มงวดมากหากได้รับการช่วยเหลือสินเชื่อก็จะทำให้ยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อสรุปการขอความช่วยเหลือของภาคเอกชน ประกอบด้วย
1. ขอให้ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เหลือ 3% ซึ่งค่ายรถยนต์ประเมินว่า จะสามารถลดราคาจำหน่ายรถยนต์ตามปกติลงได้คันละ 15,000 บาท และรัฐบาลจะสูญเสียรายได้ 7,500 ล้านบาท แต่จะมียอดจำหน่ายรถเพิ่มขึ้น 50,000 คัน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีต่างๆเพิ่มขึ้นมาทดแทนรวม 6,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานต่อไป และหากได้รับการช่วยเหลือตามข้างต้น ค่ายรถยนต์ก็พร้อมจะลดราคาจำหน่ายรถยนต์ให้ประชาชนได้คันละ 30,000-50,000 บาท
2. ต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมมาตรการด้านการเงิน โดยเฉพาะให้ธนาคารของรัฐ หาวงเงินมาปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดเล็กที่กำลังประสบปัญหาที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อให้ในขณะนี้ โดยเงินส่วนนี้อาจจะมาจากเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่รัฐบาลอนุมัติวงเงินไว้ก่อนหน้านี้ 6,000 ล้านบาท
3. ต้องการให้รัฐบาลอนุมัติแผนเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในกลุ่มรถยนต์ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้ภาคเอกชนนำไปใช้ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในระหว่างที่ค่ายรถยนต์มีการลดกำลังการผลิตเดือนละ 5,000 บาทต่อคน รวมระยะเวลาอบรม 4 เดือน คิดเป็นวงเงินสนับสนุน 800 ล้านบาทสำหรับคนงานในระบบที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงถูกเลิกจ้างงาน 40,000 คน
4. ต้องการให้รัฐบาลกำหนดให้มีการผลิตรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่จะเช่าจากต่างประเทศ 4,000 คัน ให้หันมาผลิตในประเทศไทยเพื่อให้เกิดการจ้างแรงงานต่อรถเมล์ได้รวม 20,000 คน
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยถึงการช่วยเหลือภาครถยนต์ว่า
จะขอดูข้อเสนอจากตัวแทนของภาคเอกชนก่อนว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะยุติธรรมกับทุกฝ่าย และเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโดยรวมและระบบเศรษฐกิจทั้งหมดหรือไม่ จากนั้นจะนำมาเสนอต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจพิจารณาต่อไป.