เคาะแล้วเบี้ยเลี้ยงฝึกอบรมช่วยตกงานคนละ 4.8 พันต่อเดือน ค่ารถอีก 720 บาท ให้เลือก 3 พันหลักสูตร เปิด 4 พันจุดกระจายทั่วประเทศ รุ่นแรกเริ่ม 1 เม.ย. รองรับถึง 1 แสนคน "ธ.ก.ส." มึนคนเมินขอสินเชื่อธุรกิจโครงการคืนถิ่น มีแค่ 2,000 ต่ำกว่าเป้าตั้งไว้ 1 แสนราย
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารโครงการนี้ ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงรายละเอียดการดำเนินงานโครงการ และได้ข้อยุติเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว โดยหลักสูตรการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ จะมีจำนวนกว่า 2,000-3,000 หลักสูตร คัดเลือกมาจากหลักสูตรจำนวนกว่า 17,000 หลักสูตร ที่หน่วยงานต่างๆ เสนอเข้ามาให้พิจารณาในช่วงแรก ส่วนจุดให้บริหารฝึกอบรมอาชีพ ทั้งในส่วนของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคประชาสังคม จะมีจำนวน 3,000-4,000 จุด กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และคาดว่าจะเปิดการฝึกอบรมอาชีพแรงงานรุ่นแรกได้ในวันที่ 1 เมษายน ในการฝึกอบรมแต่ละรุ่นสามารถรองรับผู้เข้ารับการอบรมได้จำนวน 100,000 คน
นายกนกกล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมจะแยกเป็น 1.ค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม 5,000 บาท/คน/เดือน จ่ายให้สถาบันจัดฝึกอบรมเพื่อเป็นค่าวิทยากร ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอาหารกลางวัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 2.ค่าเบี้ยเลี้ยงการฝึกอบรมสำหรับผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 4,800 บาท/คน/เดือน 3.ค่าพาหนะระหว่างการอบรม 720 บาท/คน/เดือน และ 4.ค่าเดินทางเหมาจ่าย 3,000 บาท/คน สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาอบรมจากต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนาเมื่อฝึกอบรมเรียบร้อยแล้ว
"ค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมของหน่วยงานต่างๆ และค่าเบี้ยเลี้ยงของผู้เข้ารับการอบรม คณะกรรมการได้กำหนดให้จ่ายในอัตรานี้ทุกหลักสูตร แต่จะได้กี่เดือนก็ขึ้นอยู่กับการฝึกอบรมแต่ละหลักสูตรว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน เพราะบางหลักสูตรใช้เวลาเพียง 1 เดือน หรือมากกว่านี้ แต่ในส่วนของผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่จะเดินทางกลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนา หลังการฝึกเสร็จ จะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงช่วยเหลืออีกเดือนละ 4,800 บาท แต่ไม่เกิน 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือในช่วงระหว่างรองาน" นายกนกกล่าว
นายกนกกล่าวว่า สำหรับกลุ่มแรงงานชะลอการเลิกจ้างของผู้ประกอบการ ที่สนใจส่งแรงงานเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่ปลดคนงานออกเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นั้น ที่ประชุมได้ข้อยุติว่าจะเน้นการช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ มีผู้ประกอบการที่สนใจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 ราย แต่ในขั้นตอนการเข้าร่วมจะต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลทั้งในเรื่องสถานะการเงิน รวมถึงจำนวนแรงงานว่าได้รับความเดือนร้อนจริง และเมื่อได้รับความช่วยเหลือไปแล้วธุรกิจจะฟื้นตัวได้เร็วหรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุด คณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานฯ ที่มีนายกอร์ปศักดิ์เป็นประธาน ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะสนใจจะส่งแรงงานเข้ามาร่วมฝึกอบรมอาชีพ เพื่อชะลอการเลิกจ้าง ใน 1 ปี ว่า จะต้องมีชื่อสถานประกอบการที่ชัดเจน ระบุจำนวนรายชื่อกลุ่มพนักงาน/ลูกจ้างที่อยู่ในข่ายจะถูกเลิกจ้าง และต้องการฝึกอบรมเพิ่มทักษะประเภทอะไร ผู้ประกอบการจะนำเสนอข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจรับรองข้อมูล เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาห กรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หากผู้ประกอบการรายใดได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดทำเอ็มโอยู ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองข้อมูลและยืนยันการจ้างงานกลุ่มพนักงานและลูกจ้างที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
ข่าวแจ้งว่า สำหรับหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือกแล้วได้แก่ หลักสูตร "เปลี่ยนวิธีคิด ติดอาวุธสัมมาชีพด้วยเศรษฐกิจพอเพียง", หลักสูตร "พัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ การบริบาลผู้สูงอายุ" รองรับผู้ฝึกอบรมได้ 390 คนต่อรุ่น, หลักสูตร "7 เมนูญี่ปุ่น อาหารว่างไทย-จีน-เวียดนาม อาหารตะวันตก" รองรับผู้ฝึกอบรมได้ 540 คนต่อรุ่น, หลักสูตร "เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน ผ้าบาติก กรอบรูป" รองรับผู้ฝึกอบรมได้ 1,435 คนต่อรุ่น, หลักสูตร "สร้างมัคคุเทศก์ มืออาชีพในท้องถิ่น/ชุมชน" สามารถรองรับผู้ฝึกอบรมได้ 1,035 คนต่อรุ่น, หลักสูตร "นวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ" รองรับผู้ฝึกอบรมได้ 370 คนต่อรุ่น, หลักสูตร "เขียนแผนธุรกิจเปลี่ยนวิกฤตอาชีพ สร้างผู้ประกอบการ" สามารถรองรับผู้ฝึกอบรมได้ 135 คนต่อรุ่น, หลักสูตร "การจัดการและการใช้คอมพิวเตอร์ในงานสำนักงาน" สามารถรองรับผู้ฝึกอบรมได้ 140 คนต่อรุ่น เป็นต้น
ด้าน นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการรักษาการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลผู้สนใจเข้าร่วมรับการอบรมทักษะแรงงานตามโครงการของ ธ.ก.ส.และกระทรวงแรงงานทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 มีถึง 150,000 คน แต่ปรากฏว่า มีผู้สนใจขอรับสินเชื่อตามโครงการกู้วิกฤตแรงงานไทยคืนถิ่นเพียง 2,000 รายเท่านั้น ถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยกว่าที่ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าไว้ว่าโครงการจะได้รับความนิยมและน่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 100,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่ทำให้จนถึงขณะนี้มีผู้แสดงความสนใจว่าทำเรื่องขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.แค่เพียง 2,000 ราย เพราะส่วนใหญ่กังวลใจว่าหากกู้เงินมาทำธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจยังผันผวนแบบนี้ อาจจะขายของไม่ได้ และไม่สามารถหาเงินกลับมาใช้คืนเงินกู้ได้ตามกำหนด ทำให้ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเข้าร่วมรับการอบรมฝึกทักษะอาชีพ ฝีมือแรงงานด้านต่างๆ เพียงอย่างเดียวระหว่างรองาน ใหม่ โดยหวังว่าจะรอเวลาเพื่อไปทำงานในตำแหน่งและหน้าที่ใหม่ ที่กระทรวงแรงงานได้ประกาศไว้ว่าขณะนี้เรามีตำแหน่งงานว่างอยู่ทั่วประเทศ 125,000 ตำแหน่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจับคู่คนกับงานให้สอดคล้องกัน
"แม้ว่าแรงงานที่ตกงานจะสนใจขอสินเชื่อที่เราเตรียมเอาไว้ให้ แค่เพียง 2,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท จากวงเงินสินเชื่อที่วางไว้ถึง 5,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ายังไม่มั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศว่าจะดีขึ้นจริงหรือไม่ จึงตัดสินใจที่จะเข้ารับการอบรมระหว่างที่ตกงานเท่านั้น แต่เราก็คงจะไม่ไปเร่งรัดหรือบังคับให้ทุกคนที่มาต้องขอสินเชื่อ หรือเร่งให้คนเป็นหนี้ เพราะเชื่อว่าจำนวนคนขอสินเชื่อในโครงการดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นในอีก 6-8 เดือนข้างหน้า หลังจากที่ได้รับการอบรมทักษะฝีมือต่างๆ ไปแล้ว และได้กลับไปยังถิ่นฐานและหาลู่ทางพื้นที่ทำกิจการได้" นายเอ็นนูกล่าว
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.คาดว่า เม็ดเงินสินเชื่อในโครงการกู้วิกฤตแรงงานไทยคืนถิ่นน่าจะเข้าสู่ระบบได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากที่ กระทรวงแรงงานได้จัดอบรมทักษะอาชีพ ฝีมือ ให้กับกลุ่มนำร่องชุดแรก 2,000 คน ในเดือนเมษายน 2552 ต่อจากนั้น ธ.ก.ส.จะอบรมเพิ่มเติมในหลักสูตร "เถ้าแก่น้อย" เพื่อทุกคนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการจัดทำโครงการ งานด้านบัญชี เพื่อดูความตั้งใจ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจะสามารถพิจารณาสินเชื่อให้กับแต่ละรายได้ทันที
เคาะแล้วเบี้ยอบรมคนตกงาน 4.8 พันบาทต่อเดือน โครงการคืนถิ่นกร่อย ปชช.ขอสินเชื่อแค่ 2พันกว่าราย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ เคาะแล้วเบี้ยอบรมคนตกงาน 4.8 พันบาทต่อเดือน โครงการคืนถิ่นกร่อย ปชช.ขอสินเชื่อแค่ 2พันกว่าราย
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday