คลื่นความตื่นตระหนกซัดตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อวันอังคาร
แม้ว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ จะลงนามร่างแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 787,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐที่อยู่ในช่วงถดถอย โดยความปั่นป่วนครั้งใหม่มีขึ้นท่ามกลางความหวาดกลัวว่า แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐและมาตรการอื่น ๆ ที่ออกมาเพื่อพยุงธนาคาร อาจน้อยเกินไปที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจที่ดำดิ่งรุนแรง
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลงร้อยละ 3.79 ปิด ที่ 7,552.60 จุด
ขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรปก็ดิ่งลงอย่างรุนแรงเมื่อวันอังคาร เนื่องจากเกรงกลัวความอ่อนแอของภาคธนาคารและรถยนต์ โดยดัชนีเอฟทีเอสอี 100 ของอังกฤษ รูดลงร้อยละ 2.43 ปิดที่ 4,034.13 จุด,ดัชนีซีเอซี 40 ตลาดหุ้นปารีส ลดลงร้อยละ 2.94 ปิดที่ 2,875.23 จุด และดีเอเอ็กซ์ตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ต ลดลงร้อยละ 3.44 อยู่ที่ 4,216.60 จุด
ส่วนองค์การแรงงานนานาชาติ หรือไอแอลโอ เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า ภูมิภาคเอเชียจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 7.2 ล้านคนในปี 2552 มากกว่าปีที่แล้ว
เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้อัตราการว่างงานของภูมิภาคนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 5.1 ไอแอลโอ คาดการณ์ว่า คนว่างงานในเอเชีย ซึ่งถือว่าเป็นดาวเด่นเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ประชากร 1 ใน 3 มีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่อวันมากกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย จะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 97 ล้านคนในปี 2552 ส่วนเมื่อปีที่แล้ว อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.8
ไอแอลโอระบุในรายงานว่าด้วยวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย ระบุว่า หากมองในแง่ร้ายที่สุด จำนวนคนว่างงานอาจพุ่งสูงถึง 113 ล้านคน หรือมากกว่าปีที่แล้ว 22.3 ล้านคน
ในขณะเดียวกัน ในปีนี้และปีหน้า จะมีคนต้องการงานใหม่อยู่ประมาณ 51 ล้านคนเพื่อรองรับตลาดแรงงานที่ขยายตัวมากขึ้นในเอเชีย แต่งานส่วนใหญ่ที่ต้องการอยู่ในประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของภูมิภาค 20.3 ล้านตำแหน่งอยู่ในอินเดีย 10.9 ล้านตำแหน่งอยู่ในจีน และ 3.6 ล้านตำแหน่งอยู่ในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ไอแอลโอยังระบุด้วยว่า ประชาชนในเอเชียมากกว่า 140 ล้านคนอาจถูกฉุดเข้าสู่ความยากจน เพราะวิกฤติการเงินที่กระหน่ำภูมิภาค ทั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ อาจชะลอการอพยพของแรงงานจากชนบทเข้าเมือง และประชาชนจำนวนมากกำลังเผชิญหน้ากับแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าจะต้องกลับเข้าสู่งานในภาคการเกษตรที่มีรายได้ต่ำ เพราะโรงงานและบริษัทจำนวนมากปลดคนงาน.