ผู้นำสหรัฐฯลงนามในร่างกฏหมายกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ท่ามกลางการดิ่งลงของตลาดหุ้นเพราะไม่มั่นใจในแผนการนี้
(18ก.พ.) ประธานาธิบดีบารัก โอบามา
ของสหรัฐได้ลงนามรับรองแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 787,000 ล้านดอลลาร์เป็นกฏหมายแล้วเมื่อวันอังคาร ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด หลังจากแผนนี้ผ่านการรับรองจากสภาคองเกรสเมื่อวันศุกร์ เขาแสดงความมั่นใจว่าแผนนี้จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและสร้างงานได้ตามเป้า พร้อมประกาศจุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปีของสหรัฐ
กฏหมายใหม่ฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างหรือรักษาตำแหน่งงาน 3.5 ล้านคนในประเทศให้ได้ รวมถึง"ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม"ด้วย ขณะที่สหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับอัตราว่างงานเดือนม.ค. ที่ทะยานสูงที่สุดในรอบ 16 ปีโดยสูงถึง 7.6% และที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโอบามาเตือนว่า อัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักถ้าสภาคองเกรสไม่ผ่านร่างกฏหมายกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้
หนึ่งในสามของเงินทุนจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะนำไปใช้จ่ายด้านการลดหย่อนภาษี รวมทั้งสิ้น286,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจสหรัฐที่มีขนาดใหญ่สุดของโลก แต่นักวิเคราะห์มองว่า ตลาดไม่เห็นมาตรการผ่อนคลายที่ชัดเจนจากมาตรการฉบับนี้ ทำให้เกิดความมั่นใจเพียงน้อยนิดว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้จริง ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งกราดรูด ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17ก.พ.)ดิ่งลงไป 297.41 จุด หรือ 3.79% ปิดที่ 7,553.00 ส่วนดัชนีแนสแดก ปรับตัวลง 63.70 จุด หรือ 4.15% ปิดตลาดราคาอยู่ที่ 1,470.66 และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ 500 (เอสแอนด์พี) ลดลง 37.53 จุดหรือ 4.54% ปิดที่ 789.31 ซึ่งเป็นเพราะนักลงทุนไม่มั่นใจว่ากฏหมาฉบับนี้จะได้ผลตามที่คาดหวัง ทั้งมาตรการลดภาษีและกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศครั้งมโหฬาร
ด้านน้ำมันทั้งตลาดนิวยอร์กและลอนดอน พร้อมใจปรับตัวลงเกือบ 3 ดอลลาร์ เหตุนักลงทุนเริ่มเห็นสัญญาณความต้องการน้ำมันตลาดโลกลดลงมากกว่านี้ และค่ายรถยนต์สหรัฐสองแห่งเร่งยื่นแผนปรับโครงสร้างเพื่อให้ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้แผนช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของรัฐบาล มาพยุงฐานะของบริษัทในช่วงที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติรุนแรงที่สุด
ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ พร้อมใจกันปรับตัวร่วงลง เพราะนักลงทุนเกรงว่าความต้องการพลังงานของผู้บริโภคในตลาดจะทรุดลงมากกว่านี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และยังมองไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว สัญญาน้ำมันดิบไลท์สวีท ที่ตลาดน้ำมันนิวยอร์ก ส่งมอบล่วงหน้าเดือนมี.ค. ร่วงลงไป 2.58 ดอลลาร์ ปิดตลาดที่ 34.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันเบรนท์ทะเลเหนือที่ตลาดลอนดอน ส่งมอบล่วงหน้าเดือนเม.ย. ร่วงลงไป 2.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 41.03 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายบาร์ท เมเล็ก นักวิเคราะห์จากบีเอ็มโอ แคปปิตัล มาร์เก็ตส์ ให้ความเห็นว่า
ผู้คนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความต้องการพลังงานในตลาดโลก ขณะที่ดูเหมือนว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ประกอบกับตลาดคาดหวังต่ำมากเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และแม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก)จะลดการผลิตลงอีก แต่ก็ต้องใช้เวลาพักใหญ่เพื่อสร้างสมดุลด้านอุปสงค์และอุปทานให้เกิดในตลาด