มท.บี้สอบ หางนม โรงเรียน อย.ตรวจ ส่วนผสม

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

รุมพิสูจน์"หางนม"โรงเรียน ส่งแล็บพิสูจน์เป็นนมสดแท้ หรือมีอะไรเป็นส่วนผสม

กันแน่ นายกอบต.พะโต๊ะโต้กร้าว ผอ.โรงเรียนที่ร้องเรียนไม่ใช่อย. จะมาตัดสินจากการสอบถามน.ร.ไม่ได้ ขณะที่โรงงานนมชี้แจงวุ่นต่อคณะนายอำเภอที่เข้าตรวจสอบ อ้างซื้อนมสดแท้มาจากสหกรณ์ที่ประจวบฯ โบ้ยปัญหาเกิดจากการขนส่งของคนที่มารับช่วง ทางด้านมท.เต้นสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงด่วน โฆษกมท.แนะเบื้องต้นวิธีแก้ปัญหาฮั้วนมตามโซนพื้นที่

จากกรณี นายสุธรรม นทีทอง เลขานุการ รมว. ศึกษาธิการ ลงพื้นที่เปิดงานล่องแพพะโต๊ะที่ จ.ชุมพร เพื่อมอบนโยบายเรียนฟรีให้ครูใน อ.พะโต๊ะ และได้รับการร้องเรียนจาก นายบรรยงค์ ณธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนปากเลข อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ว่าเด็กนัก เรียนของโรงเรียนไม่ยอมดื่มนมในโครงการนมโรง เรียนที่ภาครัฐนำมาแจก แม้ครูประจำชั้นจะพยายามขอร้องให้ดื่มเพื่อสุขภาพของเด็ก แต่ก็พบว่าเด็กยังนำไปแอบทิ้ง เมื่อถูกจับได้ก็บอกเหตุผลที่ไม่ดื่มว่า นมมีกลิ่น ไม่มีคุณภาพ ซึ่งนายบรรยงค์ได้ตรวจสอบโครงการนมโรงเรียน พบว่านมดังกล่าวไม่มีคุณภาพจริง ไม่ใช่นมสด 100 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ประกาศนโยบายไว้
แต่กลับนำหางนมมาผสมน้ำบรรจุถุงให้นักเรียนกิน สร้างความเดือดร้อนให้เด็กนักเรียน ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ก.พ. นายบรรยงค์ ณธรรม ผอ.โรงเรียนปากเลข อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ได้ตรวจสอบตลอดเวลาเกี่ยวกับนมที่ทางเทศบาลนำมาส่ง ซึ่งชัดเจนว่านมนี้ไม่ได้บูด แต่ไม่มีคุณภาพตามที่ทางราชการส่งมาเท่านั้น โดยเคยลองดื่มเอง ปรากฏว่าไม่มีรสนม ไม่เข้มข้น ไม่มีสีขาวตามแบบน้ำนม จึงต้องสงสัยว่าน่าจะไม่มีคุณภาพ และที่สำคัญ ในจำนวนนมที่ส่งมาทั้งหมดจะมีการปลอมปนนมที่หมดอายุมาด้วย 5-10 ถุงทุกวัน ตอนแรกไม่นึกว่ามีเจตนา แต่นานเข้าหลายๆ ครั้ง จึงคิดว่ามีเจตนาแน่

ด้านนายสุทัศน์ โยธาแก้ว นายก อบต.พะโต๊ะ กล่าวว่า นายบรรยงค์ ณธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนปากเลข ที่ออกมาร้องเรียนเรื่องนมนี้ ตนทราบว่าเป็นคนนิสัยอย่างไร มักย้ายโรงเรียนบ่อยๆ จากการตรวจสอบทราบว่านายบรรยงค์พูดด้วยความมันในที่ประชุม กล่าวหาว่านมไม่มีคุณภาพ เอาหางนมมาผสมน้ำ ตรงนี้ใครจะไปทราบว่านมไม่มีคุณภาพ นอกจากอย. เท่านั้น

ซึ่งนายบรรยงค์ไม่ใช่อย. ในส่วนของอบต. ก็กระทำไปตามหนังสือสั่งการของกระทรวง ถูกขั้นตอนการปฏิบัติทุกอย่าง มีการยื่นซองถูกต้อง โดยบริษัทที่มีตัวตน ชื่อว่า บริษัท นำศรีชล ตั้งอยู่ อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เป็นบริษัทใหญ่ จำหน่ายนมให้หลายๆ อบต. ทั่วพื้นที่ทางใต้ของ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง
การกล่าวหาของนายบรรยงค์ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน เพียงแต่สอบถามเอาจากเด็ก ดังนั้น นายบรรยงค์ต้องรับผิดชอบ เพราะบริษัทนำศรีชลได้รับความเสียหาย จะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด

ด้านน.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด และสำนักงานเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะได้รับรายงานทั้งหมด หากตรวจพบว่ามีการผสมนมผงในนมโรงเรียน จะถือว่าผิดข้อตกลงของศธ.และเกษตรฯ และผิดตามพ.ร.บ.อาหาร จะถือว่าเป็นอาหารปลอมปน มีโทษปรับไม่เกิน 5,000-100,000 บาท หรือจำคุก 6-10 เดือน หากพบว่าเป็นนมบูดไม่ได้มาตรฐานจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุธรรม นทีทอง เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้รายงานด้วยวาจาให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ทราบแล้ว และอีกสักครู่จะทำหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบโรงเรียนอื่นๆ ด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็จะเสนอให้ทางกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามตรวจสอบกระบวนการทุจริตต่อไป

ต่อมาเวลา 11.30 น. นายสุธรรมพร้อมทีมงาน นำกล่องบรรจุนมโรงเรียนแบบถุงพาสเจอไรซ์ ที่มีผู้ร้องเรียนส่งมาจาก จ.ชุมพร มาแสดงให้กับผู้สื่อข่าวและช่างภาพได้ถ่ายรูป โดยผู้สื่อข่าวได้ขอให้นาย สุธรรมทดลองดื่มนมโรงเรียนดังกล่าว เพื่อทดสอบว่าเป็นไปตามที่มีการร้องเรียนไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ แต่นายสุธรรมไม่ยอมทดสอบด้วยตนเอง จนสุดท้ายได้แจ้งให้ทีมงานเป็นผู้ทดสอบนมดังกล่าวแทน โดยตัวแทนที่ชิมนมระบุว่า "รสชาติจืดกว่านมทั่วไป"

ด้านนายสุธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่มีการร้องเรียนไม่ใช่ปัญหาการจัดส่งนมล่าช้า แต่เป็นเรื่องที่ทางผู้เกี่ยวข้องไม่จัดหานมบริสุทธิ์ 100% มาให้กับเด็กได้ดื่ม ทั้งที่ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องประสบปัญหานมล้นตลาด ตนจะได้นำนมโรงเรียนดังกล่าว ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบต่อไปว่าเป็นนมแท้ 100% หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับนมโรงเรียนแบบถุงพาสเจอไรซ์ดังกล่าว ระบุว่า ผลิตโดยโรงงานนำศรีชล เครื่องดื่ม เลขที่ 104/45 ม.6 ต.ทุ่งตะไคร อ.ทุ่ง ตะโก จ.ชุมพร ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไปยังหมาย เลขโทรศัพท์ที่ระบุอยู่ด้านข้างถุง ปรากฏว่าไม่มีผู้รับสาย ขณะที่เมื่อติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ระบุไว้ด้านข้างถุงดังกล่าวด้วย กลับได้รับแจ้งว่า เป็นหมายเลขของอาจารย์โรงเรียนใน จ.สุราษฎร์ธานี และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงงานดังกล่าว ทั้งนี้ ระบุว่าไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอน

วันเดียวกัน น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ เลขานุการ รมว. มหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงเลขที่ มท. 0100/772 ถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้รายงานข้อเท็จจริงการจัดซื้อนมโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ โดยขอให้รายงานข้อเท็จจริงให้รมว.มหาด ไทยทราบภายในวันนี้ (16 ก.พ. 52) หากตรวจสอบพบว่าปัญหาเกิดจากอุปสรรคหรือข้อขัดข้องประเด็นใด ให้ดำเนินการแก้ไขทันที

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า การจัดซื้อนมเป็นหน้าที่ของอปท.ทั่วประเทศที่จะตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ โดยมีผอ.โรงเรียนเป็นคนตรวจรับ ว่านมนั้นเป็นนมที่มีมาตรฐานมีคุณภาพ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เรื่องนี้จะโทษท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ในส่วนนี้ผอ.โรงเรียนต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ในเมื่อนมไม่ได้มาตรฐานเหตุใดจึงรับมา

รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า สำหรับหนังสือของกรมปกครองท้องถิ่น เลขที่ มท. 08934/ว. ลงวันที่ 29 ต.ค. 2551 ที่ระบุถึงรายชื่อบริษัทผู้ประกอบการแปรรูปนม ที่มีสิทธิจำหน่ายนมในโครงการทั่วประเทศ จำนวน 68 รายนั้น ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ที่จะแจ้งรายชื่อบริษัทที่ผ่านมติรับรองของคณะอนุกรรมการโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการจัดซื้อสามารถซื้อนมจากบริษัทใดก็ได้ใน 68 บริษัท จึงไม่ใช่การกำหนดสเป๊กให้ท้องถิ่นซื้อจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เนื่องจากอำนาจในการจัดซื้อเป็นของ อปท.ทั้งหมด แต่อาจมีความเป็นไปได้ที่บริษัทนมอาจจะฮั้วกันด้วยการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกันเอง ประกอบกับ อ. พะโต๊ะมีสภาพพื้นที่อยู่บนเขา ทำให้มีบริษัทที่มีศักยภาพในการขนส่งหรือจัดจำหน่ายมีน้อยราย

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รมว.มหาดไทยได้สั่งการให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้รายงานกลับมาแล้วว่าอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อเป็นของอปท. กรณีนี้หากคณะกรรมการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เห็นว่าบริษัทละเมิดสัญญาและข้อกำหนดก็มีสิทธิ์ไม่รับและยกเลิกสัญญาได้เช่นกัน ขอเสนอว่าให้ยกเลิกเงินอุดหนุนอปท.ในส่วนของงบนมโรงเรียน และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นผู้ดำเนินการเองโดยตรง รวมทั้งเสนอให้คณะอนุกรรมการฯ ออกข้อกำหนดให้ยกเลิกการกำหนดโซน เพื่อให้การจัดซื้อเป็นไปอย่างเสรี ป้องกันไม่ให้บริษัทนมฮั้วเพื่อแบ่งผลประโยชน์ในแต่ละโซนได้

เมื่อเวลา 14.30 น. นายสมพงษ์ มากมณี นอภ. ทุ่งตะโก พร้อมด้วยนายปรีชา ไชยณรงค์ นายวัช รินทร์ แจ้งใจเย็น สาธารณสุขอำเภอทุ่งตะโกและผู้ช่วยฯ เข้าตรวจเยี่ยมสถานที่เก็บนมโรงเรียนของโรงเรียนวัดชลธีพฤกษาราม ต.ปากตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร จากนั้นคณะของ

นอภ.ทุ่งตะโก เดินทางไปยังโรงงานนมของบริษัทนำศรีชล จำกัด เลขที่ 104/45 ม.6 บ้านเขาปีบ ต.ทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก โดยมีนายประคอง ชลสาคร อายุ 49 ปี ที่ปรึกษาบริษัท ให้การต้อนรับ

นายประคองชี้แจงว่า โรงงานรับน้ำนมดิบมาจากสหกรณ์โคนมอ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ สัปดาห์ละ 14 ตัน เพื่อมาผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์สัปดาห์ละ 5-7 หมื่นถุง ส่งให้โรงเรียนในพื้นที่ จ.ระนอง ชุมพร ซึ่งทางโรงงานจะต้องตรวจสอบคุณภาพนม ให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการอยู่เสมออยู่แล้ว แต่ปัญหาส่วนมากตามที่เป็นข่าว จะอยู่ที่การขนส่งของผู้ประกอบการรายย่อยและการจัดเก็บของโรงเรียน เพราะนมจะต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ 8 องศา ทั้งนี้ ทางโรงงานไม่ได้จัดส่งนมเอง แต่ก็ได้อบรมให้ความรู้เรื่องของการขนส่งและผู้ประกอบการรายย่อยอยู่เสมอ พร้อมจะคาดโทษ หรือยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาขนส่งแล้วเกิดนมบูดหรือเสีย เพราะมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น บริษัทก็เสื่อมเสียและเสียลูกค้าไปด้วย

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผวจ.ชุมพร เปิดเผยว่า ได้สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ในนามคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด เข้าไปเก็บตัวอย่างนม ส่งไปตรวจพิสูจน์ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี พร้อมกำชับให้นายอำเภอทุกแห่งเร่งตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนขององค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่แล้วรายงานให้ทราบด้วย ทั้งนี้ เบื้องต้นได้รับรายงานว่า โรงงานดังกล่าวเคยถูกปรับมาแล้วครั้งหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังการทำงาน

วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว. ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานปัญหานมโรงเรียน จากนายสุธรรม นทีทอง เลขานุการรมว. ศึกษาธิการแล้ว ซึ่งจะต้องขอให้โรงเรียนที่ประสบปัญหาทุกแห่งรายงานมายังต้นสังกัด เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนมโรงเรียนโดยตรง ไปพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.มีมติอนุมัติการขยายโครงการนมโรงเรียน จากเดิมที่ครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ป.4 ให้ครอบคลุมถึง ป.5 และป.6 ด้วย ซึ่งจะทำให้มีนักเรียนที่จะได้ดื่มนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคน เป็นทั้งหมด 7 ล้านคน สำหรับงบประมาณที่จะต้องจัดสรรเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งจะจัดสรรงบประมาณผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เหมือนที่ผ่านมา โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2553 และเด็กจะได้ดื่มนมโรงเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552 นี้

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหานมโรงเรียนว่า โครงการนมโรงเรียนที่ริเริ่มในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาในภาคปฏิบัติ คงต้องตามไปดูว่าวิธีการผลิตนมให้เด็กดื่มมีการนำไปผสมกับหางนมจริงหรือไม่ ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเราขณะนี้ อะไรที่เป็นเงินเป็นทอง ก็เข้าไปมีผลประโยชน์

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ พร้อมรับตรวจวิเคราะห์นมโรงเรียนที่โรงเรียนปากเลข อ.พะโต๊ะ ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 3 วัน จะทราบทันทีว่าส่วนประกอบของนมมีอะไรบ้าง มีสิ่งใดแปลกปลอมเข้าไปหรือไม่ โดยนายสุธรรมจะประสานกับนายอำเภอพะโต๊ะ ในการจัดส่งนมตัวอย่างมายังกรมวิทยาศาสตร์บริการ

ทางด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย อดีตรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่มีนำนมที่ไม่ได้คุณภาพไปแจกให้กับนักเรียนในพื้นที่ จ.ชุมพร ว่า เรื่องดังกล่าวยืนยันว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรมว.มหาดไทย ไม่มีหน้าที่ดูแลกรมปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลในเรื่องนี้โดยตรง นอกจากนี้เหตุการณ์ดังกล่าวยังเกิดในช่วงเดือน ต.ค.2551 ขณะนั้นตนได้ถูกปลดจากการเป็นรมว.มหาดไทยแล้ว อยากให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้กระทำผิดและมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัญหานมล้นตลาดในขณะนี้ เกิดจากอัตราการบริโภคนมในประเทศลดลง อันเนื่องมาจากกระแสการตรวจพบสารเมลามีน ผู้ประกอบการรายงานว่ายอดจำหน่ายนมในตลาดพาณิชย์ลดลงมากถึง 20-30% ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายลดปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรไปด้วย นอกจากนี้จากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ขยายการบริโภคนมโรงเรียนจากอนุบาล-ป.4 เป็นอนุบาล-ป.6 แต่ไม่มีการขยายวงเงินงบประมาณ กำหนดให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเจียดงบประมาณจัดหาเอง ในขณะที่ราคานมโรงเรียนสูงขึ้นตามราคาน้ำนมดิบที่ปรับจากก.ก.ละ 16 บาทเป็น 18 บาท ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าองค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่นบางแห่งจะใช้วิธีการลดปริมาณรับซื้อแทนการเจียดจ่ายเงิน ซึ่ง กระทรวงเกษตรฯ จะหารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์