ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมการขนส่งทางบกว่า
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของกรมได้ตรวจสอบอายุการใช้งานรถร่วมบริการขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ที่ใช้งานอยู่ในระบบจำนวน 3,154 คัน โดยแบ่งเป็นรถร่วมโดยสารขนาดใหญ่จำนวน 2,136 คัน และรถมินิบัสจำนวน 1,018 คัน เนื่องจากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยจากการตรวจสอบพบว่า มีรถร่วมบริการที่มีคุณภาพตามอายุการใช้งาน คือระหว่าง 1-10 ปี เพียง 1,122 คัน ซึ่งทั้งหมดเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ ส่วนรถร่วมบริการที่เหลือจำนวน 2,032 คัน มีอายุการใช้งานระหว่าง 11-54 ปี แต่กรมไม่มีอำนาจสั่งปลดระวางได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานของรถร่วมบริการ ขสมก.
จากการตรวจสอบพบว่า
อายุการใช้งานเฉลี่ยของรถมินิบัสอยู่ที่ 22 ปี มี 595 คัน ซึ่งคันที่มีอายุการใช้งานมากที่สุดคือ 47 ปี มี 1 คัน ขณะที่รถโดยสารขนาดใหญ่ เฉลี่ยอายุการใช้งานอยู่ที่ 6 ปี มี 306 คัน โดยคันที่มีอายุการใช้งานมากที่สุดคือ 54 ปี มี 1 คัน ส่วนอายุการใช้งานของรถร่วมบริการ ขสมก. ที่เกิน 10 ปี แบ่งได้ดังนี้ อายุการใช้งานระหว่าง 11-20 ปี มีจำนวน 400 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ 398 คัน รถมินิบัส 2 คัน อายุการใช้งานระหว่าง 21-30 ปี มี 1,120 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ 363 คัน รถมินิบัส 757 คัน อายุการใช้งาน 31-40 ปี มี 420 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ 170 คัน รถมินิบัส 250 คัน อายุการใช้งาน 41-54 ปี มี 92 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ 83 คัน รถมินิบัส 9 คัน
นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า
ขสมก.มีการตรวจสอบความปลอดภัยของรถโดยสารทุกวัน ซึ่งหากเห็นว่ารถคันไหนมีอุปกรณ์ เสียหาย เช่น กระจกร้าว เบรกไม่ดี ซึ่งจะเป็นอันตรายกับผู้โดยสารก็จะซ่อมทันที และทุกปีจะได้รับการตรวจสภาพรถเพื่อต่อภาษีรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบกอยู่แล้ว โดยอายุรถโดยสารของ ขสมก. เฉลี่ยอยู่ที่ 18 ปี ส่วนรถปรับอากาศยูโรทู จะมีอายุเฉลี่ย 8-12 ปี หากผู้โดยสาร คนใดพบเห็นการให้บริการที่ไม่เหมาะสมหรือรถอยู่ในสภาพไม่ได้คุณภาพให้แจ้งสายด่วน 184 ได้ทันที
ด้านนายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า
กรมมีแนวทางสนับสนุนการกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางหรือรถบัสทัศนาจร ยกระดับคุณภาพการบริการเป็นรถมาตรฐานระดับ 4 ดาว เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว ให้หันมาเลือกใช้บริการมากขึ้นกว่าเดิม โดยปัจจุบันรถบัสทัศนาจรยังมีคุณภาพมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะจูงใจนักท่องเที่ยวที่ต้องการบริการที่สะดวก ปลอดภัย กรมการขนส่งทางบกจึงหาแนวทางในการสร้างแรงจูงใจ ให้มีการปรับมาตรฐานเป็นระดับ 4 ดาว โดยกำหนดหลักเกณฑ์คุณภาพไว้ 3 ด้าน ได้แก่ มาตรฐานด้านตัวรถ มาตรฐานด้านพนักงานขับรถ และมาตรฐานด้านผู้ประกอบการขนส่ง.