สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการปรับลดพนักงานจากหน่วยงานหลายแห่ง และช่วงนี้ถือว่าใกล้สิ้นสุดปีการศึกษาของว่าที่บัณฑิตใหม่
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ความกังวลของว่าที่บัณฑิตใหม่ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ” โดยเก็บข้อมูลจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายซึ่งกำลังจะจบการศึกษาในช่วงระยะนี้ จากมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 20 แห่ง รวมทั้งสิ้น 1,226 คน เป็นเพศชาย ร้อยละ 45.0 และเพศหญิงร้อยละ 55.0 เมื่อวันที่ 6 - 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สรุปว่า ว่าที่บัณฑิตมีความกังวลเรื่องการตกงาน 52.2% ขณะที่ 47.8% ไม่กังวล โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีแผนจะศึกษาต่อ และจะกลับไปช่วยกิจการของครอบครัว ฯลฯ
ถามถึงความมั่นใจของว่าที่บัณฑิตใหม่ว่า
จะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานที่เหมาะสมกับคุณวุฒิ ที่จบมา พบว่า มั่นใจ 37.4% ไม่มั่นใจ 62.6% สำหรับแนวทางการรับมือกับสถานการณที่เกิดขึ้นของว่าที่บัณฑิตใหม่ พบว่า 31.6% คิดหาช่องทางประกอบอาชีพส่วนตัว 29.7% เรียนต่อเพื่อให้ได้คุณวุฒิที่สูงขึ้น 16.5% ยอมทำงานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าวุฒิ 13.7% ยังไม่มีแนวทางการรับมือ 6.9% ศึกษาหรืออบรมทักษะเฉพาะด้านเพิ่มเติม และ 1.6% อื่นๆ เช่น ยอมทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนหรือไปหางานทำที่เมืองนอก
เมื่อถามความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการฟื้นฟูและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ พบว่า
65.4% เชื่อมั่น แบ่งเป็น 12.2% เชื่อมั่นมาก 53.2% ค่อนข้างเชื่อมั่น และ 34.6% ไม่เชื่อมั่น แบ่งเป็นไม่เชื่อมั่นเลย 5.7% และไม่ค่อยเชื่อมั่น 28.9% ส่วนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการแก้ปัญหาเรื่องการว่างงาน พบว่า 55.5% เชื่อมั่น โดยแบ่งเป็น เชื่อมั่นมากร้อยละ 9.0% ค่อนเชื่อมั่น 46.5% และ 44.5% ไม่เชื่อมั่น แบ่งเป็น ไม่เชื่อมั่นเลย 6.5% ไม่ค่อยเชื่อมั่น 38.0%
ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาการตกงานของว่าที่บัณฑิตใหม่ คือ
เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้บังเกิดผลโดยเร็ว 47.0% ส่งเสริมการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อขยายตำแหน่งงาน 31.7 จัดโครงการตลาดนัดแรงงานให้บ่อยขึ้น 8.0% เพิ่มเงินเดือนและค่าครองชีพเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย 5.9% เร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนกับนักลงทุนต่างชาติ 4.9 % อื่นๆ เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมธุรกิจ SME และเลิกโต้เถียงกันในสภาด้วยเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ฯลฯ 2.5%