นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าววันนี้ (11 ก.พ.) ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ)
ได้หารือถึงโครงการเพิ่มศักยภาพแรงงานที่ได้รับงบประมาณกลางปี จำนวน 6,900 ล้านบาท ซึ่งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบและให้สอดคล้องกัน รวมทั้งไม่ให้ซ้ำซ้อน และให้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยสำรวจรายละเอียดให้ชัดเจนว่ามีจำนวนผู้ประกอบการเลิกจ้างเท่าใด และโรงงานเหล่านั้นตั้งอยู่ที่ใดซึ่งการจัดโครงการอบรมต้องให้ตรงกับความต้องการของตลาด เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องการจ้างงานได้ประมาณ 500,000 คน นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือของกระทรวงแรงงานเอง ที่เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานได้อีกอย่างน้อย 500,000 คน เมื่อรวมกันแล้วก็ช่วยแก้ไขปัญหาได้กว่า 1 ล้านคน
นายกฯ กล่าวถึงกรณีมีการพูดถึงตัวเลขคนตกงานที่ 2 ล้านคน ว่า เป็นตัวเลขที่ต้องอ้างอิงกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ระบุว่าหากไม่มีการขยายตัวเท่านั้น
แต่ขณะนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำมาตรการต่าง ๆ ออกมาซึ่งเชื่อว่า จะช่วยรองรับแรงงานที่ตกงานได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน แน่นอน ด้านนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับ ทราบถึงการเฝ้าติดตามสถานการณ์การว่างงานซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2551 มีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนถูกเลิกจ้างประมาณ 387,629 คน เพิ่มขึ้น 38% หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน เมื่อเทียบกับปี 2550 ส่วนเดือน ม.ค.2552 มีผู้ลงทะเบียนถูกเลิกจ้างจำนวน 66,776 คน เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้มาลงทะเบียน 39,050 คน
รมว.แรงงาน กล่าวถึงประเภทกิจการที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 5 อันดับ ว่า ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเครื่องเรือน การผลิตสิ่งทอและการผลิตเครื่องจักร อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานจะเกาะติดสถานการณ์แรงงานอย่างใกล้ชิดเพื่อรายงานต่อครม.ทุกเดือน