พิษเศรษฐกิจฉุดวาเลนไทน์ไม่คึกคัก หอการค้าไทย สำรวจยอดใช้จ่าย 2.3 พันล้านบาท เติบโตต่ำสุดรอบ 3 ปีชี้เป็นสัญญาณผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย ด้านมิสลิลลี่คาดตลาดดอกไม้สดยอดขายตก ขณะที่ราคาดอกกุหลาบแพงขึ้น 30-40%
ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติ พฤติกรรม และการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์ ปี 2552 ว่า
บรรยากาศปีนี้ไม่คึกคักนักเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์เฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2,325.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.69% จากปี 2551 ที่มีมูลค่าใช้จ่ายรวมที่ 2,159.46 ล้านบาท แต่เป็นการขยายตัวในอัตราชะลอตัวจากปีก่อนที่เติบโต 15.09% และขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากปี 2550 มีมูลค่า 1,876.37 ล้านบาท เติบโต 8.98%
ทั้งนี้ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,202 ราย ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุพบว่า
กลุ่มอายุระหว่าง 30-39 ปี มีการใช้จ่ายมากที่สุด 2,622.31 บาทต่อคน รองลงมาคือกลุ่มอายุ 40-49 ปี จำนวน 2,596.18 ล้านบาท ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งพบว่าให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากนั้น มีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 750 บาทต่อคน อายุระหว่าง 16-18 ปี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 675.85 บาทต่อคน อายุระหว่าง 19-22 ปี 842.90 บาทต่อคน และอายุระหว่าง 23-29 ปี 1,147.01 บาทต่อคน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรวมต่อคนจะอยู่ที่ 1,457.07 บาท
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า
จากผลสำรวจดังกล่าวพบว่ามีสัญญาณที่ผู้บริโภคยังระวังการใช้จ่าย สะท้อนถึงสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และยังไม่มีสัญญาณถึงความเชื่อมั่นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค
นายเรวัติ จินดาพล กรรมการผู้จัดการบริษัท มิสลิลลี่ ฟลาวเวอร์ ผู้ดำเนินธุรกิจจัดส่งดอกไม้ทั่วประเทศ เปิดเผยว่า
ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ตลาดดอกไม้สดจากร้านดอกไม้ทั่วประเทศมูลค่า 9 พันล้านบาท มีโอกาสเติบโตลดลงราว 10% ซึ่งสร้างยอดขายราว 15% ของทั้งปี หรือ 600 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ก็เชื่อว่าจะมียอดขายเพียง 550 ล้านบาทในปีนี้ แม้ว่าภาพรวมราคาดอกกุหลาบในท้องตลาดจะปรับขึ้น 30-40%
สำหรับมิสลิลลี่นั้น ในปีนี้ได้ปรับราคาขายดอกไม้ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ขึ้นอีก 5-10% จากช่อปกติราคาช่อละ 2,200 บาทเป็น 2,400 บาท