เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อ 9 ก.พ. เกิดโศกนาฏกรรมในเกาหลีใต้ ผู้คนเหยียบกันตายบนภูเขาฮวาวาง ระหว่างร่วมพิธีจุดไฟบูชาดวงจันทร์
ในงานประเพณีที่เมืองจางยอง ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เพื่อฉลองวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งแรกตั้งแต่ตรุษจีน ปรากฏว่ากระแสลมพัดให้เปลวไฟโหมลุกลาม คนที่ร่วมพิธีอยู่ด้านบนจึงวิ่งหนีลงมาจนเหตุการณ์โกลาหลอลหม่านมากขึ้น กลายเป็นการเหยียบทับกัน เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 30 ราย อีก 2 รายหายสาบสูญ
"คาดว่าบรรดานักปีนเขาหลายคนที่ไปดูพิธีดังกล่าวตกลงมาจากหน้าผา หลังจากเปลวไฟทำให้ผู้ร่วมพิธีวิ่งหนีกันกระเจิดกระจิง" ตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ กล่าว ขณะมีรายงานด้วยว่า ศพที่พบเป็นหญิง 3 ราย ชาย 1 ราย เสียชีวิตขณะที่ผู้คนวิ่งหนีเปลวไฟบริเวณหน้าผา โดยในช่วงเกิดเหตุมีฝูงชนอยู่หนาแน่นราว 15,000 คน
นายลี ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่ง เล่าว่า ความโกลาหลเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ร่วมพิธีพยายามหลบเปลวไฟที่ยอดเขา รวมถึงควันดำที่ตลบไปทั่วบริเวณ
ทั้งนี้ ประเพณีจุดไฟดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี ตามเรื่องเล่าโบราณว่า พลังแห่งไฟจะนำมาซึ่งความสุขและทำให้การเพาะปลูกได้ผลดี วันเดียวกัน เอเอฟพีรายงานความคืบหน้าเหตุไฟป่าลุกลามพื้นที่ภาคใต้ในประเทศออสเตรเลีย ว่า ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 135 ศพแล้ว ขณะที่นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งตามล่ามือวางเพลิงให้ได้ โดยระบุว่าคนเหล่านี้ เป็นฆาตกรสังหารหมู่
เดมอน มุลเลอร์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้วางเพลิงจนทำให้ไฟป่าลุกลามมาแล้วหลายครั้ง
แม้ว่าปกติแล้วการวางเพลิงจะมีแรงกระตุ้นมาจากการแก้แค้น หรือหวังผลจากประกันภัย แต่กรณีของไฟป่า ไม่มีใครที่จะได้เงินจากการวางเพลิง ดังนั้นเรื่องเงินไม่น่าจะเป็นสาเหตุ นายมุลเลอร์ กล่าวต่อว่า แรงบันดาลใจสำหรับคนที่วางเพลิงก่อไฟป่า น่าจะเป็นเหตุผลทางจิต การเห็นไฟลุกลามเผาผลาญอาจตอบสนองความต้องการในจิตใจของคนเหล่านี้ เป็นไปได้ที่ต้องการความตื่นเต้น ต้องการรู้สึกมีอำนาจเหนือสิ่งแวดล้อม หรือเร้าใจที่ได้เห็นพนักงานดับเพลิงกระวนกระวายกับการดับไฟ