สื่ออังกฤษชี้ "โฮ ชิง" เมียนายกฯ สิงคโปร์ ทำ "เทมาเส็ก" ขาดทุนย่อยยับ หลังไปลงทุนแบงก์เจ๊งฉุดทุนสำรองสิงคโปร์วูบราว 4.3 ล้านล้านบาท ชี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องลงจากตำแหน่งประธานบริหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ว่า หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของอังกฤษ ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ได้รายงานเบื้องหลังกรณีนางโฮ ชิง ภรรยานายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริหารของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ว่า ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของเทมาเส็กจะอ้างว่า การลาออกของนางโฮ ชิง ไม่เกี่ยวอะไรกับการลงทุนที่เกิดปัญหาในช่วงปีที่ผ่านมา แต่จะเห็นว่า นายชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ อดีตประธานบริหารของบีเอชพี บิลลิตัน ที่มาดำรงตำแหน่งแทน ต้องลงมืออย่างรวดเร็วเพื่อปรับปรุงสัดส่วนการลงทุนของเทมาเส็กใหม่ โดยลงทุนในภาคที่มีการเติบโตดีกว่า เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ
รายงานข่าวระบุว่า นางโฮได้รับการยกย่องว่าเปลี่ยนเทมาเส็กจากบริษัทรัฐที่หลับใหลเพราะเน้นลงทุนแค่ในประเทศ เช่น ลงทุนในธนาคารดีบีเอส, สิงคโปร์แอร์ไลน์ ไปสู่การลงทุนระหว่างประเทศ โดยเธอกำกับดูแลการขยายลงทุนในตลาดเอเชียด้วยการซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคาร โทรคมนาคม การศึกษา และสุขภาพ เพราะเชื่อว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเติบโต เนื่องจากคนชั้นกลางในเอเชียจะเพิ่มขึ้น แต่ที่ทำให้เทมาเส็กมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ การเข้าซื้อหุ้นใหญ่ในสถาบันการเงินตะวันตก เริ่มจากการซื้อหุ้นธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในปี 2549
รายงานข่าวระบุว่า จากนั้น 2 ปีต่อมา เทมาเส็กได้ลงทุนในเมอร์ริล ลินช์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาทางการเงินของสหรัฐเป็นเงิน 5.8 พันล้านดอลลาร์ (2.03 แสนล้านบาท) และ 2,000 ล้านดอลลาร์ (70,000 ล้านบาท) ในธนาคารบาร์เคลย์ของอังกฤษในช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤตการเงินโลก การลงทุนในสถาบันการเงินตะวันตกดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้เทมาเส็กได้รับผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรมธนาคารทั่วโลกวูบลงอย่างรวดเร็ว โดย ณ เดือนมีนาคม 2551 เทมาเส็กลงทุนในภาคการเงิน-การธนาคารประมาณ 40% ของพอร์ตที่มีอยู่ทั้งหมด 1.85 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท)
"ใครก็ตามที่มีความรู้เกี่ยวกับวิกฤตของธนาคาร รู้ว่านี่คือความผิดพลาดที่ไปลงทุนในภาคธนาคารเร็วเกินไป" ที่ปรึกษาเศรษฐกิจรายหนึ่งในสิงคโปร์กล่าว
รายงานข่าวระบุอีกว่า แม้เจ้าหน้าที่ของเทมาเส็กจะออกมาปกป้องตัวเองว่า การลงทุนในสถาบันการเงินตะวันตก เช่น เมอร์ริล ลินช์ ก็เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกและเทมาเส็กก็พร้อมจะยืดอกรับผลที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการลงทุนในระยะยาวที่จะมีผลกำไรกลับมาในที่สุดก็ตาม แต่การลงทุนเหล่านี้ก็อาจจะสูญไปได้ถ้าหากแบงก์ ออฟ อเมริกา ซึ่งเป็นผู้เทกโอเวอร์เมอร์ริล ลินช์ ไป รวมทั้งธนาคารบาร์เคลย์ ถูกรัฐบาลของแต่ละประเทศเข้ามาเทกโอเวอร์หากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งนอกจากกรณีของธนาคารตะวันตกแล้ว เทมาเส็กยังประสบปัญหาจากการที่มูลค่าหุ้นของธนาคารในจีนลดลงอย่างมาก เช่น หุ้นของแบงก์ ออฟ ไชน่า
รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้จีไอซี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ยังลงทุนในธนาคารซิตี้กรุ๊ปของสหรัฐอเมริกา และยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเงินรวมกัน 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 8.4 แสนล้านบาท) ซึ่งธนาคารทั้งสองแห่งก็ล้วนได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤตสินเชื่อบ้านที่ปล่อยกู้แก่ผู้มีเครดิตต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพรม์) โดยการลงทุนในภาคการเงิน-การธนาคารในตะวันตกครั้งนี้จะสร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ เพราะจะทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของสิงคโปร์เสียหาย
และการที่รัฐบาลสิงคโปร์แต่งตั้งนายกู๊ดเยียร์ดำรงตำแหน่ง สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะเปิดให้มีการใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ ในการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ปัจจุบันเทมาเส็กลงทุนเพียง 5% ของพอร์ต เนื่องจากเห็นว่ามีแนวโน้มเติบโตดี
นอกจากนี้ การที่ในเดือนที่แล้วเทมาเส็กได้แต่งตั้งนายมาร์คัส วอลเลนเบิร์ก นั่งเป็นกรรมการของเทมาเส็ก สะท้อนให้เห็นว่าเทมาเส็กพร้อมจะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ขณะนี้มีสัดส่วนเพียง 6% ของพอร์ตการลงทุน
สื่ออังกฤษแฉ เมียนายกฯลอดช่อง ทำ เทมาเส็ก เจ๊ง 4.3 ล้านล้านบาท หลังลงทุนภาคธนาคาร
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ สื่ออังกฤษแฉ เมียนายกฯลอดช่อง ทำ เทมาเส็ก เจ๊ง 4.3 ล้านล้านบาท หลังลงทุนภาคธนาคาร