พิษเอเน็ต-ประชดศธ. ขู่ฆ่าตัวตาย ม.6 บุกสภา

ปัญหาการเข้าสอบเอเน็ตประจำปี 2552 เริ่มวุ่นอีกแล้ว
 
โดยเมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 6 ก.พ. ที่รัฐสภากลุ่มผู้ปกครองและเด็กนักเรียนชั้น ม.6 จากหลายโรงเรียน กว่า 10 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจ สอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
เพื่อขอให้พิจารณาศึกษาสอบสวนกรณีเด็กถูกตัดสิทธิเข้าสอบเอ-เน็ต โดย น.ส.ศุภรัตน์ หร่ายกลาง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมศึกษาวัดบึงทองหลาง คลองกุ่ม กทม. เป็นตัวแทนเพื่อนนักเรียนกล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์ จึงสมัครเข้าศึกษาต่อสาขาแพทยศาสตร์ ผ่านกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) โดยมีผลคะแนนสอบอยู่ในระดับที่ทาง กสพท. จะรับพิจารณาเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย โดยต้องใช้คะแนนโอ-เน็ต และ เอ-เน็ต ประกอบการพิจารณา

น.ส.ศุภรัตน์กล่าวต่อว่า

ตนปฏิบัติเหมือนนักเรียนทั่วไปคือสมัครสอบ เอ-เน็ต ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (สกอ.) บังคับที่ให้เด็กต้องสมัครสอบผ่านทางอินเตอร์เน็ต แต่ ใบสมัคร ซึ่งเป็นแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ สกอ.กำหนดว่า การสมัครจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ชำระเงินค่าสมัครเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ตนจึงปรินต์ใบสมัครแล้วนำเงินไปชำระผ่านที่ทำการไปรษณีย์ สาขาคลองจั่น เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2552 แต่เครื่องอ่านบาร์โค้ดไม่อ่านบาร์โค้ด เพราะรหัสไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่พยายามใช้วิธีอ่านจากตัวเลขแทนระบบยิงสแกน แต่ก็พบปัญหาอีกว่ารหัสตัวเลขตามแบบฟอร์มที่ทาง สกอ. ทำมามีตัวเลขไม่ครบ 38 ตัว ซึ่งตัวแรกเป็นเพียงขีดเท่านั้น จึงอ่านได้เพียง 37 ตัว

น.ส.ศุภรัตน์กล่าวอีกว่า

จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ สกอ. ซึ่งได้แนะนำว่า ให้ไปชำระเงินผ่านช่องทางอื่น ซึ่งตนก็พยายามที่จะชำระเงินตามธนาคารพาณิชย์สาขาต่างๆ แต่ไม่สามารถชำระเงินได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสแกนบาร์โค้ดได้ เมื่อชำระเงินไม่ได้ ก็พยายามไปขอชำระเงินแบบตรงกับเจ้าหน้าที่ สกอ. และพบว่าตนมีชื่ออยู่ในกลุ่มผู้มีสิทธิสมัครสอบ แต่ภายหลังทางเจ้าหน้าที่ สกอ.กลับบอกว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รับเงิน จึงทำให้ตนไม่มีสิทธิทดสอบ เอ-เน็ต และเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจะคืนเงินจำนวน 500 บาท ให้ในภายหลัง จึงมีความกังวลและมีความทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่งที่ถูกตัดสิทธิ เพราะเท่ากับว่าไม่สามารถเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ตามที่ตั้งใจ เพราะไม่มีผลคะแนนสอบ เอ-เน็ต มาประกอบการตัดสิทธิครั้งนี้เท่ากับตัดหนทางไม่ให้ตนเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา


“ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นปีนี้ แต่เป็นมาหลายปีแล้ว โดยที่ สกอ. และกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ ดำเนินการแก้ไข แถมยังโทษหนูว่าทำไมใช้ระบบปรินต์ แบบอิงค์เจ็ต ต้องใช้ระบบเลเซอร์เจ็ต ถามว่าเด็กทุกคนจะมีระบบนี้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะไม่มีการชี้แจงรายละเอียดในขั้นตอนให้เด็กรับทราบ ตอนนี้ได้รับการประสานจากเพื่อนๆที่เจอปัญหาเดียวกันทั้งโทรศัพท์มาหา   โพสต์ ข้อความในอินเตอร์เน็ตว่า รู้สึกกังวลว่าจะไม่ได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หากผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็จะฆ่าตัวตาย” น.ส.ศุภรัตน์กล่าว


 ด้านนายศุภชัย หร่ายกลาง บิดาของ น.ส.ศุภรัตน์ กล่าวว่า

กรณีของลูกสาวตนและเพื่อนนักเรียนที่เจอในกรณีเดียวกันกว่า 20,000 คน ได้เคยไปยื่นเรื่องร้องเรียน ต่อนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ สกอ.แล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ เด็กๆเตรียมความพร้อมกันมานาน เรียนกวดวิชากันกว่า 3 ปี เพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยตามที่ใฝ่ฝัน แต่นายสุเมธกลับปัดสวะง่ายๆ ให้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือในมหาวิทยาลัยเอกชนแทน การทำเช่นนี้ของภาครัฐถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการลิดรอนสิทธิการศึกษาที่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งพวกตนจะไปยื่นเรื่องต่อทุกองค์กร ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์ การสหประชาชาติ และการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน และให้มีคำสั่งคุ้มครองให้เด็กเข้าสอบเอเน็ต ให้ได้

เช่นเดียวกับ นายพิสิฐ กิตติเจริญฤกษ์ ผู้ปกครองนักเรียนอีกคนกล่าวว่า

เคยไปยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าต้องรอการตรวจสอบตามระเบียบข้อบังคับของ สกอ.ก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ และเด็กจะทันเข้าสอบหรือไม่ หากไม่ทัน การตัดสิทธิการศึกษาด้วยเงินเพียง 500 บาท
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ชูนโยบายด้านการศึกษาเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก ก็อยากให้มีความจริงใจกับเรื่องการศึกษาให้จริงจังกว่านี้ อย่าเอาแค่ระเบียบปฏิบัติมาตัดสิทธิของเด็กแบบนี้ ซึ่งพวกเราจะต่อสู้ทุกวิถีทาง
 
ด้าน น.ส.รสนา กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า
 
จะเร่งพิจารณาในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด โดยจะประสานทางโทรศัพท์กับผู้เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะกับนายสุเมธ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าสอบทันในวันที่ 23 ก.พ.นี้ จากนั้นจะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง แต่หากยังไม่มีความชัดเจน ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยเฉพาะตัวนายสุเมธเอง และอยากฝากถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าปล่อยปละละเลยเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร เพราะรัฐบาลเองชูเรื่องการศึกษาเป็นนโยบายสำคัญ แต่กลับเอากฎระเบียบเล็กน้อย เรื่องเงินเพียง 500 บาท มาสกัดกั้นอนาคตของเด็กเยาวชนของชาติ

ต่อมานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

แม้ส่วนตัวแล้วจะเห็นใจนักเรียนที่พลาดโอกาส แต่เรื่องนี้คงจะต้องยึดระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้ อีกทั้งจากที่ได้เคยมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นตรงกันว่า หากมีการขยายเวลาการสมัครเอเน็ต เพื่อให้เด็กที่ตกหล่นอยู่กว่า 2 หมื่นคน ก็จะกระทบต่อเด็กกลุ่มใหญ่ที่ปฏิบัติตามกฎกติกาอีกกว่า 1.9 แสนคน ที่สมัครและชำระเงินทันตามเวลาที่กำหนด ซึ่งแต่ละปีก็มีปัญหานี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยในปี 2549 มีนักเรียนที่ไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครเอเน็ตจำนวน 5.1 หมื่นคน และในปี 2550 มีจำนวน 2.7 หมื่นคน ซึ่งในปีที่ผ่านมา สกอ.ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้มาใช้สิทธิได้ แต่เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก สกอ.คงจะต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ก็เป็นปัญหาส่วนตัวของนักเรียนด้วย ที่บางคนสมัครสอบตรงเผื่อไว้หลายแห่ง จึงไม่ชำระเงินค่าสมัครเอเน็ต แต่เมื่อพลาดจากสอบตรงแล้วก็ต้องการมาสอบเอเน็ต ในส่วนที่นักเรียนระบุว่าจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้น ต้องสอบถามกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะที่กำกับดูแล สกอ. 

เช่นเดียวกับ นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า

กรณีที่นักเรียนอ้างว่าบาร์โค้ดไม่ชัดนั้น อยู่กับเครื่องปริ้น ไม่ได้เป็นปัญหาที่ระบบคอมพิวเตอร์ อีกทั้งหากนักเรียนมีปัญหาเรื่องบาร์โค้ดก็ควรโทรศัพท์มาสอบถามที่ สกอ. แต่เท่าที่ตนตรวจสอบ ไม่พบว่ามีนักเรียนแจ้งเหตุปัญหาดังกล่าว อีกทั้งการรับสมัครและชำระเงินเอเน็ต ปิดรับสมัครไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าทำไมนักเรียนอีกกว่า 1.9 แสนคน ที่สมัครและชำระเงินเรียบร้อยกลับไม่มีปัญหา ในส่วนที่นักเรียนระบุว่าจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวนั้น ตนเห็นด้วย เพราะหากเป็นการตัดสินใจของ สกอ.ที่จะเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้สอบเอเน็ตได้ ก็จะกระทบกับนักเรียนอีกกว่า 1.9 แสนคน ซึ่งก็จะฟ้องร้องต่อ สกอ. ได้เช่นกัน แต่หากศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เปิดโอกาสให้นักเรียนกลุ่มนี้ ตนก็ไม่มีปัญหา


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์