"สมิทธ"เตือนไทยอาจถูก"คลื่นยักษ์สึนามิ"ถล่มอีกระลอก
ชี้ปี 52 ไทยร้อนจัดอุณหภูมิทะลุ 42 องศา เหตุแกนโลกสวิงเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว กระทบเกษตรจำนวนผลผลิตลดลง อาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากภาวะคลื่นความร้อนมากขึ้น ขณะที่ฤดูฝนปีนี้มาเร็วผิดปกติ เจอแน่ทั้งพายุ มรสุมเพียบ ซ้ำเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
เปิดเผยถึงแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติในปี 52 ว่า ขณะนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยากำลังจับตาดูอยู่ เพราะอากาศที่ปกคลุมประเทศไทยปีนี้มีความผิดปกติพอสมควร โดยเฉพาะฤดูหนาวที่มีลมมรสุมจากตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังพัดแรงที่มาพร้อมกับอากาศเย็นจากประเทศจีนส่งผลถึงไทย ทำให้ช่วงฤดูหนาวไทยมีความเย็นผิดปกติ และต่อเนื่องระยะยาว และยังทำให้เกิดคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยที่เรียกว่า สตอมเซอจขนาดเล็ก ทำให้บ้านเรือนริมชายฝั่งได้รับผลกระทบตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ถึง จ.สตูล ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติจากปีก่อน ๆ และมีความรุนแรงมากกว่า
นายสมิทธ กล่าวต่อว่า นักวิทยาศาสตร์ ทั่วโลกกำลังดูอยู่ว่า ทำไมปีนี้อากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือจึงเย็นลงมาจนถึงพื้นที่เส้นศูนย์สูตร
ซ้ำยังหนาวเย็นเป็นระยะยาวต่อเนื่องมากผิดปกติ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศในแถบยุโรป และอเมริกา ซึ่งพบว่าบางแห่งเกิดปรากฏการณ์พายุหิมะตกผิดปกติ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่า ภาวะดังกล่าวเกิดจากแกนโลกหมุนเอียงออกจากดวงอาทิตย์มากกว่าปกติหรือไม่ โดยอยู่ที่ประมาณ 23.5 องศา ส่งผลให้ประเทศที่อยู่ซีกโลกเหนือจะมีความหนาวเย็นมากผิดปกติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง แกนโลก จะสวิงกลับ โลกจะเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์มาก กว่าปกติเช่นกัน ส่งผลให้หน้าร้อนที่กำลังมาถึงร้อนมากขึ้น
เตือนสินามิถล่มอีก สมิทธชี้ปี 52 ร้อนจัด
อดีตประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ กล่าวอีกว่า ภาวะดังกล่าวจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น
ส่งผลให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยจะมีอากาศร้อนมากกว่าปกติ กระทบต่อภาคการเกษตร จำนวนผลผลิตลดลง ตั้งแต่ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และพืชการเกษตรส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันศัตรูพืชก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากภาวะคลื่นความร้อนมากขึ้น ซึ่งที่อินเดียมีคนเสียชีวิตทุกปี และประเทศไทยอาจมีผู้เสียชีวิตได้ในพื้นที่ร้อนจัด เช่นที่ จ.ตาก และอุตรดิตถ์ แต่ทั้งนี้ฤดูร้อนอาจมีระยะเวลาที่สั้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย และทะเลอันดามัน จะทำให้มีพายุมากขึ้น ซ้ำยังรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งในช่วงนี้ประเทศ ไทยจะประสบภัยพิบัติจากพายุ ทั้งจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ทำให้บ้านเรือนเสียหายอย่างมาก
“ขอให้ติดตามดูฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง จะเริ่มช่วงปลายเดือน ก.พ. ต้องดูว่า อากาศร้อนมีความร้อนจัดจนอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจนถึงขั้นผิดปกติหรือไม่ เชื่อว่าประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 42 องศา ผลที่ตามมาคือทำให้ฤดูฝนผิดปกติไปด้วย กระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งหมด ส่วนสาเหตุที่ทำให้โลกเอียง คือ 1. เป็นไปโดยธรรมชาติ 2. เป็นเพราะการกระทำของมนุษย์ เนื่องจากมีการวิเคราะห์ว่า การที่ประเทศจีน และอีกหลาย ๆ ประเทศสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไว้เหนือเส้นศูนย์สูตรเป็นปริมาณมหาศาล จำนวนล้าน ๆ ลูกบาศก์ เมตร เมื่อน้ำถูกเก็บไว้ในเขื่อนจนเต็ม ส่งผลให้โลกเสียสมดุลทำให้แกนโลกเอียงผิดปกติได้ แต่ทั้งนี้ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ หรือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นอีก นายสมิทธ กล่าวว่า อาจมีความเป็น ไปได้
เพราะเมื่อโลกเอียงเข้าเอียงออก ปริมาณ มวลโลกจะมีการเคลื่อนตัว เกิดการเคลื่อนตัวแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง และบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็เกิดแผ่นดินไหวเป็น ระยะ ๆ แล้ว แต่ยังไม่เคลื่อนตัวมากพอที่เกิดสึนามิได้ อย่างไรก็ตามปกติการเกิดแผ่นดินไหวมีวัฏจักร อาจไม่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย แต่อาจเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก
นายสมิทธ กล่าวต่อว่า การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติขึ้นอยู่กับรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่เรากลัวกันมาก ๆ คือ น้ำท่วมกรุงเทพฯ
ซึ่งคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาประมาณ 20 ปี จึงจะเห็น แต่หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ อาจเกิดเร็วภายใน 10-15 ปี เพราะน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว จึงควรมีนโยบายป้องกัน แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้มีการเตรียมการอะไรเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ เนื่องจากนักการเมืองต่างห่วงเก้าอี้มากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าหน้าร้อนปีนี้ อุณหภูมิร้อนมากผิดปกติแสดงว่า ทฤษฎีของตนถูก ต่อมาจะมีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่า โอกาสที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯแบบถาวรจะมาเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตนพูดไม่ได้ต้องการสร้างความตื่นตระหนก แต่อยากให้มีการเตรียมความพร้อมไว้เท่านั้น
ที่อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน “118 ปี ศาลาแยกธาตุ-กรมวิทยาศาสตร์บริการ” เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การวางแผนพัฒนาประเทศจำเป็นต้องเข้าใจสภาวะแวดล้อมของโลกเพื่อปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาไทยก็ทำได้ดี แต่ในด้านขีดความสามารถวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทยมักถูกประเมินให้อยู่ในระดับต่ำอยู่ แม้เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ถ้าปล่อยให้สะสมยาวนาน ก็จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ดังนั้นการจะให้ประเทศแข่งขันอย่างยั่งยืนต้องผลักดันการวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และระดมความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัย เศรษฐกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สนับสนุนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ขณะที่ นายเมธา รัชตะปีติ ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษาศูนย์ฝนหลวงหัวหิน กล่าวว่า ขอเตือนผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของประเทศว่าควรเตรียมแผนรับมือฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมาก่อนหน้าคือการมีอากาศหนาวเย็นนาน คาดว่าจะทำให้ฤดูแล้งปีนี้จะยกระดับเป็นภัยแล้งในที่สุด ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะยาวนานแค่ไหน และสิ่งที่เป็นห่วงมากก็คือ เขื่อนทั่วประเทศขณะนี้หลายเขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บไม่ถึง 70% เนื่องจากในฤดูฝนที่ผ่านมา เกรงเขื่อนพังต้องเร่งระบายน้ำทิ้งทะเล ซึ่งทำให้เห็นว่าระบบบริหารทรัพยากรน้ำไม่มีมาตรฐาน เมื่อเป็นเช่นนี้อาจกระทบกับปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้.