"งานเข้า" ไปเต็ม ๆ สำหรับกองทัพเรือไทย เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศอย่างบีบีซี ออกมาแฉทั้งภาพและข่าวกล่าวหาทหารเรือไทยทำทารุณกรรมกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญา ทั้งทำร้ายร่างกาย จับมือมัดไพล่หลังแล้วจงใจปล่อยให้ไปตายกลางทะเลนานถึง 15 วัน
การเปิดประเด็นแรงๆเช่นนี้ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งใน และต่างประเทศกดดันรัฐบาลอย่างหนักให้สอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำทารุณกรรมต่อผู้อพยพโดยไร้มนุษยธรรม ทั้งยังรุมประณามทหารไทยอย่างรุนแรง ทั้งที่เป็นเพียงการกล่าวหาฝ่ายเดียวเท่านั้น
กระนั้นแม้จะเป็นการกล่าวหาฝ่ายเดียว และออกจะไม่เป็นธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ไทยสักเท่าใด
แต่รัฐบาลก็มิได้เพิกเฉยต่อแรงกดดันขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดย อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นการด่วน
คีย์แมนระดับสูงในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมากันครบทั้ง นายสุเทพเทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนายกษิตภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.ท.สุรพลเผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
นายอดุลย์กอวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พล.ต.อ.พัชรวาทวงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.รัชกฤตกาญจนรัตน์ เสนาธิการทหาร พล.ท.ดาว์พงษ์รัตนสุวรรณ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ พล.ร.ท.ยุทธนาฟักผลงาม รองเสนาธิการทหารเรือ พล.อ.ท.ศรีเชาวน์จันทร์เรือง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายยุทธการ
ที่ประชุมสมช. กำหนดแผนการดูแลความมั่นคงบริเวณตามแนวชายแดนไทย-พม่าโดยเฉพาะบริเวณน่านน้ำที่มีปัญหาจะให้ทาง พล.ร.ท.ณรงค์เทศวิศาล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เป็นผู้กำกับดูแล
ขณะที่พื้นที่ทางบกจะให้ พ.อ.มนัสคงแป้น ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนแยกเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนปัญหาที่สมช. เป็นห่วงมากที่สุดไม่ใช่การเข้าไปพัวพันกับปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่เป็นประเด็นขบวนการ "ค้ามนุษย์" เนื่องจากมีการพบเบอร์โทรศัพท์ซุกซ่อนอยู่ในตัวของผู้อพยพโรฮิงญาที่จับกุมได้แทบทุกคน