วันนี้ (27 ม.ค.) มีรายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่า ภาวะการว่างงานของประชาชนในเดือน ธ.ค. 2551 มีจำนวน 540,000 คน
หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 สูงกว่าปีก่อน 220,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ขณะที่สูงกว่าเดือน พ.ย. 20,000 คน โดยแนวโน้มการว่างงานยังคงสูงขึ้น หากการจ้างงานในภาคผลิตยังลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
รายงานระบุต่อว่า จำนวนผู้ว่างงานทั้งหมดแยกเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 150,000 คน และผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 390,000 คน
ในกลุ่มนี้เป็นผู้ว่างงานนอกภาคเกษตรกรรม 300,000 คน ประกอบด้วยภาคการผลิต 140,000 คน ภาคการบริการ 160,000 คน ส่วนผู้ว่างงานจากภาคเกษตรกรรมมีประมาณ 90,000 คน โดยการว่างงานเกิดขึ้นในภาคใต้สูงสุดที่ร้อยละ 2.8 รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานคร ( กทม.) ร้อยละ 1.6 ภาคกลางร้อยละ 1.5 ภาคเหนือร้อยละ 1.1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราน้อยที่สุดที่ร้อยละ 0.9
รายงานระบุต่ออีกว่า เมื่อแยกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ พบว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายมีอัตราการว่างงาน สูงสุดเท่ากันคือ 130,000 คน
รองลงมาเป็นระดับอุดมศึกษา 120,000 คน ประถมศึกษา 100,000 คน และผู้ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาว่างงาน 60,000 คน รายงานระบุด้วยว่า ทิศทางผู้ว่างงานและอัตราว่างงานของประเทศ จากข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรตั้งแต่ปี 2539-2551 พบว่าในปี 2541 ช่วงที่เกิดผลกระทบจากวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ มีผู้ว่างงานสูงถึง 1,400,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 4.4 แต่หลังจากนั้นการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่มีอัตราว่างงาน เพียงร้อยละ 1.4
โดยในปี 2549-2551 อัตราว่างงานเริ่มชะลอตัวลง และคงที่ในปี 2551ส่วน ผู้มีงานทำในเดือน ธ.ค.มีจำนวนทั้งสิ้น 37.98 ล้านคน เพิ่มขึ้น 550,000 คน
โดยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 4 00,000 คน ส่วนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 150,000 คน เพิ่มขึ้นในสาขาขายส่งขายปลีก 460,000 คน สาขาก่อสร้าง 180,000 คน สาขาการโรงแรม ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง เพิ่มขึ้นเท่ากันคือ 40,000 คน สาขาการบริหารและป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น 20,000 คน ส่วนสาขาการผลิตลดลง 310,000 คน โดยเฉพาะการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง 73,000 คน การผลิตสิ่งทอลดลง 56,000 คน เป็นต้น