เมื่อวันที่ 26 ม.ค. สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ภาพถ่ายปฏิบัติการทหารไทย ลากเรือพาผู้อพยพโรฮิงยาออกจากเกาะทรายแดง จ.ระนอง ไปปล่อยทิ้งกลางทะเลน่านน้ำสากล
นายแดน ริเวอร์ส ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นประจำกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ไปยังเกาะทรายแดงเพื่อทำสกู๊ปข่าวนี้โดยเฉพาะ และระบุว่าได้รับภาพถ่ายจากบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับกระบวนการผลักดันผู้อพยพชาวโรฮิงยาออกจากประเทศไทย สำหรับภาพดังกล่าวถ่ายขณะทหารเรือไทยลากเรือเก่าๆ ซึ่งมีผู้อพยพโรฮิงยานั่งอยู่เต็มลำนับร้อยคน ออกไปปล่อยทิ้งกลางทะเลในน่านน้ำสากล และเชื่อว่าเรือดังกล่าวไม่มีเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่มอบรูปถ่ายให้นายริเวอร์ส รวมถึงแหล่งข่าวในกองทัพไทย ยืนยันว่าได้ขนอาหารและน้ำดื่มใส่เอาไว้บนเรือผู้อพยพด้วย
นายริเวอร์สรายงานว่า นายทหารไทยเปิดเผยว่า กองทัพไทยดำเนินนโยบายขนผู้อพยพโรฮิงยาไปทิ้งในทะเลจริง
แต่จำเป็นต้องทำเนื่องจากแต่ละเดือนคนกลุ่มนี้ลักลอบเข้ามาในพื้นที่เป็นร้อยๆ คน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวอย่างหนัก เพราะบางส่วนเข้ามาลักขโมยทรัพย์สิน ทั้งยังแสดงพฤติกรรมข่มขู่คุกคามชาวบ้าน "เราพยายามติดต่อขอความเห็นจากรัฐบาลไทยต่อกรณีผู้อพยพโรฮิงยา และได้รับคำตอบว่าอยู่ระหว่างการสอบสวน รายงานผลสอบสวนทั้งหมดจะส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว" นายริเวอร์สระบุ
ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า จากการเดินสำรวจจุดที่ทหารไทยควบคุมตัวผู้อพยพโรฮิงยาบนเกาะทรายแดง ยังคงพบรองเท้าและจานข้าวตกกระจัดกระจายอยู่บนพื้น
นอกจากนั้น เมื่อนั่งเรือไปหาข้อมูลบนเกาะใกล้ๆ กันพบว่าชาวบ้านเพิ่งช่วยกันจับตัวผู้อพยพชาวโรฮิงยาคนหนึ่งซึ่งหนีเข้าไปซ่อนตัวในป่า จากการสอบถามทราบชื่อว่านายอิกบัล ฮุสเซน อ้างว่านั่งเรือ 6 ลำพร้อมผู้อพยพหลายร้อยคนออกจากพม่ามาถึงประเทศไทยเมื่อเดือนธ.ค.2551 และถูกทหารไทยควบคุมตัวก่อนจับขึ้นเรือลากออกไปกลางทะเลในเดือนม.ค. แต่เรือจมไป 5 ลำ ทุกคนตายหมด ขณะที่นายอิกบัลโชคดีรอดมาได้เพราะเรือที่นั่งอยู่ย้อนกลับมาถึงฝั่ง
ที่ท่าอากาศยานทหาร บน.6 พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. กล่าวก่อนเดินทางไปเยือนประเทศพม่าว่า การเดินทางไปเพื่อแนะนำตัวกับผู้ใหญ่ของประเทศพม่า รวมถึงพูดการทำงานของทั้งสองประเทศ
อาจจะพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ ความมั่นคงต่างๆ ระดับกองทัพว่าในอนาคตอันใกล้จะทำอะไรร่วมกัน ส่วนเรื่องชาวโรฮิงยาหลบหนีเข้าเมืองนั้นไม่ได้เป็นปัญหาที่สำคัญ แต่ต้องไปศึกษาว่าโรฮิงยาเป็นคนกลุ่มใด และมาเคลื่อนไหวอะไรในภูมิภาคนี้ ซึ่งในส่วนของการดำเนินการจะหารือในกรอบเจบีซี หรืออาร์บีซี อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนกลุ่มนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ใด แต่จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านที่รักใคร่กลมเกลียวกันก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของเรา บางครั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงก็ไม่สามารถจะชี้แจงได้ทุกเรื่อง ส่วนกระแสข่าวว่าผู้นำพม่าไม่พอใจผู้นำไทยนั้น เท่าที่ดูยังไม่เห็นมีอะไร ทุกอย่างมีความมั่นคงและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คิดว่าต่อไปนายกฯคงจะไปเยือนพม่า
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์กรณีสื่อต่างประเทศโจมตีกองทัพและประเทศไทยทารุณชาวโรฮิงยาว่า ประเทศไทยชี้แจงไปมากแล้ว มากกว่าทุกประเทศ
บางประเทศไม่รับกลุ่มเหล่านี้เลย ตนมีโอกาสไปสิงคโปร์ซึ่งระบุว่าประเทศจะไม่รับกลุ่มโรฮิงยาแน่นอน และใช้วิธีการเฆี่ยนด้วย ประเทศไทยไม่ได้ทำอะไรรุนแรง แต่ไม่สามารถแบกรับภาระคนที่เข้ามาผิดกฎหมายได้ ด้วยปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องหาที่ทำกินให้ หรือเรื่องการดูแลให้เหมือนประชาชนชาวไทยนั้น คงเป็นภาระที่เราทำไม่ได้
"ดูแลคนไทยด้วยกันก็ยากแล้ว คนที่เข้ามาผิดกฎหมายเราคงต้องใช้แนวทางเหมือนประเทศอื่น คือผลักดันออกไปตามหลักมนุษยธรรม การกระทำอันใดยืนยันว่าอยู่ในขอบเขตที่น่ายอมรับได้ เพราะเราไม่ได้ไปฆ่าเขา เพราะหากทำเช่นนั้นคงไม่ใช่มีการให้อาหาร หรือการจะทำให้เขาออกไปก็อยู่ในเกณฑ์ที่ทำได้ เพราะประเทศอื่นเขาไม่รับ" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายยังสงสัยการผลักดันกลับประเทศไม่ได้ให้เรือที่มีเครื่องยนต์หรืออาหารเพียงพอ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่าตนชี้แจงแล้วว่าเราทำดีที่สุดแล้ว
สื่อต้องช่วยบอกไปเขาจะได้หายสงสัย และเรือที่เขาบรรทุกเข้ามาก็ไม่มีเครื่องยนต์แน่นอน ทั้งนี้ เท่าที่ประมวลยืนยันว่าไม่ได้มีการปล่อยให้ชาวโรฮิงยาลงน้ำแล้วตายตามที่เป็นข่าว หากมีจะจับมานั่งทำไม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง