จากกรณีที่นางรัตนาพร มนัสชื้น อายุ 45 ปี มารดา ด.ช.เอ (นามสมมติ) อายุ 12 ปี
เดินทางเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงสาธารณสุข หลังจากพาด.ช.เอเข้ารับการรักษาอาการฝีในปากที่คลินิกเอกชนที่เข้าร่วมในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งหนึ่ง ใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ แต่การรักษากลับกลายเป็นการขริบอวัยวะเพศเด็ก และ สธ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกองการประกอบโรคศิลปะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายมานิตย์ นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า
หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสถานพยาบาลดังกล่าว พบว่า สถานประกอบการมีใบอนุญาต มาตรฐานถูกต้องตามที่กำหนด แต่ผู้ผ่าเป็นพยาบาล ซึ่งจะต้องตรวจสอบตามขั้นตอนว่าผิดหรือไม่อย่างไร ซึ่งมาตรการการลงโทษ คงต้องดูถึงสาเหตุและรายละเอียดของเหตุการณ์ด้วยว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร กรณีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ ที่ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลต่อไป รวมทั้งอาจจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องเวลาในการทำงานของแพทย์ เพื่อไม่ให้แพทย์ ต้องทำงานหนักเกินไป จนเกิดความผิดพลาดขึ้น
ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน โดยมี นพ.ปัญญา กีรติหัตถยากร ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากแพทยสภา สภาการพยาบาล สำนักงานอัยการสูงสุด สภาทนายความ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เข้าร่วม ซึ่งจะต้องตรวจสอบว่าในทางวิชาชีพพยาบาล สามารถทำการผ่าตัดแทนแพทย์ ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ จะทำได้ในกรณีใดบ้าง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะมีการประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 27 ม.ค.นี้
ส่วน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา รักษาการนายก แพทยสภา กล่าวว่า
จากการได้รับรายงานข้อมูลเบื้องต้น พบว่า แพทย์ที่เป็นผู้ตรวจอาการและบันทึกลงในประวัติของผู้ป่วย ได้ตรวจและวินิจฉัยโรคถูกต้องทุกอย่าง แต่การสื่อสารผิดพลาด จึงทำให้แพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัด ได้ผ่าตัดรักษาผิดที่ โดยแพทย์เขียนคำวิธีการรักษาเป็นภาษาอังกฤษ Excision มีความหมายว่า ให้ตัดเอาออก ซึ่งหมายถึงให้ตัดเอาฝีในปากออก แต่เจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่ในการดำเนินการเข้าใจผิดว่า แพทย์สั่งให้ขริบอวัยวะเพศเด็ก ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Circumcision จากข้อมูลที่ได้รับในขณะนี้เห็นว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้ เจตนา แต่เป็นผลจากการติดต่อสื่อสารที่ผิดพลาด จึงสามารถบอกได้ในเบื้องต้นว่าแพทย์ไม่ผิด
รักษาการนายกแพทยสภา กล่าวอีกว่า
การขริบปลายอวัยวะเพศเด็กไม่มีข้อเสีย แต่กลับเป็นประโยชน์ ทำให้โอกาสในการเป็นโรคมะเร็งและกามโรคน้อยลง ซึ่งหลายประเทศให้เด็กขริบหมด แต่ประเทศไทยไม่นิยม โดยเฉพาะเด็กรายนี้ จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากเด็กมีปัญหาหนังหุ้มปลายถลกไม่สุด หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค จนอาจนำสู่การก่อมะเร็ง เพียงแต่กรณีนี้ผิดเจตนารมณ์ของผู้ป่วย