ยิ่งคุ้ยยิ่งเจอพิรุธ “ปลากระป๋องเน่า” กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หลังเจ้าหน้าที่ อย.บุกถึงสถานที่ผลิตตามที่ระบุในฉลาก ไม่พบอะไรเลย
หนำซ้ำให้คนอื่นเช่าช่วงสถานที่ไปแล้ว ส่วนบริษัทจัดจำหน่ายก็ล่องหนไปแล้ว แต่ยังพบปลากระป๋องยี่ห้อเดียวกันในท้องตลาด สุ่มเก็บตัวอย่างมา 100 กระป๋อง ส่งพิสูจน์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดจันทร์นี้รู้ผล ด้าน รมว.พม. “วิฑูรย์” แก้เกี้ยวที่มาปลากระป๋องเน่าเหตุบริษัทที่ได้รับสัมปทานจัดซื้อส่งของห่วยไม่ตรงสเปกที่นำเสนอกระทรวงฯ เตรียมขึ้นบัญชีดำหากพบทำผิดเงื่อนไข ลั่นขอเช็กข้อมูลถึงกระบวนการว่าข้าราชการมีเอี่ยวหรือไม่ ด้านปลัดกระทรวงฯปิดปากเงียบไม่ยอมแจงรายละเอียด
สืบเนื่องจากกรณีปลากระป๋องยี่ห้อ “ชาวดอย” ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำไปแจกให้ชาวบ้านตำบลชัยบุรี จังหวัดพัทลุง เกิดเน่าคากระป๋อง
ทั้งที่ฉลากบนกระป๋องระบุผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และระยะเวลาหมดอายุอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ อย.ได้สั่งเก็บปลากระป๋องยี่ห้อดังกล่าวออกจากท้องตลาด ทั้งส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจคุณภาพแล้ว ต่อมา อย.ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่ตั้งบริษัทจัดจำหน่าย คือบริษัทไทย เอ ดี ฟู้ดส์ จำกัด และบริษัทผู้ผลิตคือ บริษัท ทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ จำกัด ที่ระบุบนฉลาก ปรากฏว่าบริษัทที่จัดจำหน่ายไม่มีการประกอบกิจการค้าอาหารกระป๋องยี่ห้อ “ชาวดอย” ส่วนบริษัทผู้ผลิตก็ถูกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร สั่งงดผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปนานแล้วนั้น
ทั้งนี้ วันที่ 16 ม.ค. นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า
ได้สอบถามนายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทราบว่า ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างของที่จะบรรจุในถุงยังชีพเพื่อนำไปแจกจ่ายชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซึ่งบริษัทเอกชนรายหนึ่งนำตัวอย่างมาเสนอ ปรากฏว่าของทุกชิ้นมีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยเฉพาะปลากระป๋องเป็นยี่ห้อดังที่จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป ทั้งปุ้มปุ้ย, โรซ่า และ สามแม่ครัว แต่เมื่อบริษัทดังกล่าวนำของไปส่งยังจังหวัดในพื้นที่ ไม่ทราบว่าทำไมถึงเปลี่ยนเป็นยี่ห้อ “ชาวดอย” ซึ่งไม่เป็นไปตามที่นำตัวอย่างมาเสนอ ขณะที่ทางจังหวัดรับของไปแจกด้วยความเร่งรีบเพื่อต้องการให้ของช่วย เหลือชาวบ้านโดยเร็ว ก็ไม่ได้รอบคอบในการตรวจสอบ และได้นำไปมอบให้กับชาวบ้านในจังหวัดพัทลุงจำนวน 2,500 ชุด
นายวิฑูรย์กล่าวด้วยว่า เท่าที่ทราบกระทรวงมีการจัดซื้อถุงยังชีพลอตแรก 2 หมื่นชุด โดยมีการจัดส่ง ไปส่วนหนึ่ง
แต่เมื่อเกิดปัญหาก็ได้สั่งระงับส่วนที่เหลือประมาณ 15,000 ชุด ทั้งนี้จะสอบถามไปยังปลัดกระทรวงฯ อีกครั้ง ถึงรายละเอียดทั้งบริษัทผู้รับหน้าที่จัดส่งสิ่งของ ซึ่งหากบริษัทส่งของผิดเงื่อนไขก็ต้องรับผิดชอบ และคงต้องขึ้นบัญชีดำบริษัทดังกล่าวทันที ส่วนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะมีข้าราชการกระทรวงฯ มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น คงต้องขอตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้งก่อนที่จะพิจารณาว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อ เท็จจริงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่
“ผมก็ยังไม่ทราบว่าบริษัทที่จัดส่งของไปให้ชื่อบริษัทอะไร และเคยจัดซื้อจัดจ้างให้กับกระทรวงมาก่อนหรือไม่ รวมถึงเงื่อนไขในการเลือกซื้อยี่ห้อสินค้า เพราะผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่นาน ก็รู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม ก็สั่งให้ปลัดไปดำเนินการจัดซื้อของช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างก็ต้องว่าตามระเบียบราชการ หากมีอะไรผิดปกติ ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบ ยืนยันว่ากระบวนการต่างๆ ต้องโปร่งใสทุกเรื่อง และมีคำตอบให้กับสังคม ซึ่งในวันจันทร์ที่ 19 ม.ค.นี้ คงให้ คำตอบในรายละเอียดได้” นายวิฑูรย์กล่าว