รัฐบาลมาร์คลดแลกแจกแถม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า

ครม.เศรษฐกิจมีมติเพิ่มกรอบวงเงินที่จะนำมารักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรกรอีก 12,625 ล้านบาท โดยมอบให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ไปพิจารณาหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมจากเดิมที่รัฐบาลชุดก่อนได้จัดทำกรอบวงเงินกู้สำหรับรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรไว้แล้ว 110,000 ล้านบาท โดยแม้ขณะนี้จะยังเหลือวงเงินใช้ได้อีก 50,000-60,000 ล้านบาท ที่ยังคงดำเนินการต่อไป แต่ที่ประชุมเห็นว่าต้องทำวงเงินเพิ่มเติมอีกเพื่อนำมาดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลผลิตที่จะออกมาช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.-เม.ย.นี้ เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลงตามแนวโน้มสินค้าเกษตรและภาวะเศรษฐกิจของโลก

สำหรับวงเงินกู้ที่เพิ่มเติม 12,625 ล้านบาท ยังไม่รวมวงเงินค่าบริหารที่เป็นเงินจ่ายขาด ซึ่งรัฐต้องจัดสรรให้อีกนั้น จะนำมาดูแลสินค้าเกษตร 3 ชนิด คือ

1. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอขอให้เพิ่มปริมาณการรับจำนำอีก 250,000 ตัน วงเงิน 2,125 ล้านบาท และมีวงเงินจ่ายขาดเพิ่มอีก 116 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,311 ล้านบาท

2. เพิ่มการรับจำนำปาล์ม น้ำมันอีก 100,000 ตัน วงเงิน 2,500 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 500 ล้านบาท รวมเป็น 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอนุมัติให้ครึ่งหนึ่งจากที่เสนอขอมา 200,000 ตัน และ

3. ยางพารา ขอเพิ่มอีก 200,000 ตัน ต้องใช้เงินกู้ 8,000 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 270 ล้านบาท รวม 8,270 ล้านบาท



ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า

นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นำบทเรียนของการรับจำนำและแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในอดีตมาเป็นบทเรียนในการดำเนินงานระยะต่อไป และให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส พร้อมกับให้คำนวณต้นทุนของสินค้าเกษตรใหม่ เนื่องจากราคาน้ำมันเคยสูงในระดับ 150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลต่อราคาปุ๋ย แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันได้ลดลงแล้ว 

นายพุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า

ครม.เศรษฐกิจได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอโดยมีมติให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศทั่วโลกเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจะนำเรื่องนี้ให้ที่ประชุม ครม. วันที่ 20 ม.ค.นี้ เพื่ออนุมัติและให้มีผลทันที พร้อมหาวงเงินชดเชยรายได้ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะสูญเสียไปจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว โดยให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอวงเงินที่สูญเสียไปเข้า ครม.สัปดาห์หน้าซึ่งคาดว่าไม่เกิน 2,000 ล้านบาท 

“ครม.เศรษฐกิจยังเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมไปหามาตรการที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปิดสนามบินเช่นในอดีตที่ผ่านมาอีก รวมทั้งให้หารือกับสายการบินต่างๆขอความร่วมมือลดหย่อนค่าโดยสาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวได้จริง และมอบให้ สศช.ไปหาข้อสรุปและทำการศึกษาเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่นอกเหนือจากที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น ค่าหลุมจอด หรือ landing fee ที่เก็บจากสายการบินต่าง ๆ พร้อมให้เสนอ ครม.สัปดาห์หน้าเช่นกัน”

ส่วนการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยว

ทั้งในเรื่องการชดเชยดอกเบี้ยวงเงินกู้และการช่วยเหลือทางด้านภาษี ที่ประชุมมองว่ามีความละเอียดอ่อนจึงมีมติให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับ รมว.คลังเพื่อนำเรื่องนี้ไปพิจารณาให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อเสนอ ครม. ภายในสัปดาห์หน้า โดยให้รวมถึงการยกเว้นการเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนย้อนหลังจากโรงแรมและห้องพักของกระทรวงมหาดไทยด้วย อีกทั้งได้กำชับส่วนราชการให้ปรับแผนการประชุมและสัมมนาในต่างประเทศ ให้มาใช้ในประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ 

ด้านนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกำชับในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจให้ดำเนินการดูแลสินค้าเกษตรอย่างรัดกุม โปร่งใส ไม่ให้เกิดเหตุการณ์การสวมสิทธิ์เกษตรกร โดยในส่วนของปาล์มน้ำมันนั้น องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เตรียมคลังไว้รองรับปริมาณปาล์มน้ำมันที่จะรับจำนำไว้แล้ว โดยราคาที่รับซื้อจะเป็นราคาที่รับซื้อในตลาดขณะนี้ 22.50 บาทต่อลิตร ส่วนผลปาล์มดิบรับซื้อ 3.50 บาทต่อกิโลกรัม และได้เสนอขอวงเงินกู้ช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับสินค้าเกษตรอีก 3 รายการ ได้แก่ ข้าว ยาง มัน.  


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์