ปตท. 9 ม.ค. - นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ ปตท.จะยังไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมัน แม้ค่าการตลาดจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าที่ ควรจะเป็น โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 50-70 สตางค์ต่อลิตรก็ตาม ล่าสุดมีข่าวดีน้ำมันตลาดโลกลดลง 4-5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากราคาตลาดโลกสัปดาห์หน้าปรับขึ้นอีกก็คงจะต้องพิจารณาใหม่ว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นหรือไม่
ส่วนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และเอ็นจีวี จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร นายประเสริฐ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล
ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยในส่วนของแอลพีจี ขณะนี้ ปตท. เป็นผู้รับภาระกรณีนำเข้ามาให้ก่อนประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่ง ปตท.ได้ลงบัญชีในฐานะเจ้าหนี้ไปแล้ว ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานจะนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาทยอยชำระโดยไม่จ่ายดอกเบี้ยก็ จะไม่กระทบต่อรายได้ปีนี้
ส่วนก๊าซเอ็นจีวีที่ตรึงราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัมตั้งแต่ปี 2546 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. กล่าวว่า เดิมจะมีการปรับขึ้นปีนี้ในสัดส่วนไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาดีเซล
แต่หากไม่ปรับขึ้นเลย จะส่งผลกระทบต่อการขยายการลงทุนเพื่อบริการประชาชนในอนาคต เพราะ ปตท.หรือผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจเข้ามาลงทุนขยายเครือข่ายเอ็นจีวี จะต้องชะลอการลงทุนใหม่ เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบการรายใดสามารถเข้ามาแบกรับภาระขาดทุนได้ตลอด ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าต้นทุนเฉลี่ยปีนี้จะสูงประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ผ่านมา ปตท.รับภาระเรื่องนี้วงเงินสูงไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ประกอบกับปีนี้ฐานะการทำธุรกิจของบริษัทพลังงานโดยรวมคงอยู่ในภาวะลำบากกว่าปีที่แล้ว เพราะมาร์จิ้นหรือกำไรของธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน ล้วนแต่มีภาระสูงขึ้น โดยเฉพาะการขาดทุนจากการสตอกน้ำมันในคลังที่มีภาระสูงมากจนทำให้ไตรมาส 4 ปี 2551 เกิดปัญหาขาดทุนและปี 2552 เป็นปีที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบเศรษฐกิจ บริษัทพลังงานก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
“ทุกภาคส่วนมีภาระด้วยกันทั้งหมดไม่ว่าประชาชน รัฐบาล กระทรวงการคลัง ปตท. ซึ่งคงจะต้องมีการพิจารณาว่าจะมีการจัดการเรื่องนี้ให้สมดุลได้อย่างไร โดยขณะนี้ ปตท. ยังไม่ได้จัดทำตัวเลขว่าควรจะปรับขึ้นเอ็นจีวีเท่าใด และเมื่อไร โดยจะต้องหารือกับรัฐบาลก่อน” นายประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ นายประเสริฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาเงินกู้ระหว่างบริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย และธนาคารออมสิน วงเงิน 4,250 ล้านบาท
เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการบิสฟีนอลเอ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการฟีนอล ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว ใช้เงินลงทุนรวม 8,500 ล้านบาท มาจากกลุ่มธนาคาร 4,250 ล้านบาท ที่เหลือมาจากผู้ถือหุ้น คือ บมจ.ปตท. บมจ.ปตท.เคมีคอล และบมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น ซึ่งโครงการบิสฟีนอลเอ เป็นการผลิตเม็ดพลาสติกวิศวกรรมที่มีคุณค่าสูงใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ คอมพิวเตอร์ แผ่นซีดี-ดีวีดี มีกำลังการผลิต 150,000 ตันต่อปี คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็กลางปี 2553 .-สำนักข่าวไทย