มาม่าโอดปี 2551 สาหัสยอดขายลดลง 2.6% ราคาวัตถุดิบหลักผันผวนบริหารยาก โชคดีได้ปรับราคาขึ้นช่วยหนุนรายได้เติบโต 15% รับปี 2552 ยังตกที่นั่งลำบาก เตรียมออกมาม่าใหม่ราคา 5 บาท รองรับกำลังซื้อตก ช่วยผู้บริโภคประหยัด
นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" เปิดเผยว่า
ยอดขายมาม่าในปี 2551 ในภาพรวมลดลงกว่า 2.6% โดยในเชิงปริมาณทั้งชนิดถ้วยและซองลดลง 3.2% ส่วนในเชิงมูลค่าเติบโต 15% เป็นผลจากการปรับราคาชนิดซองจาก 5 บาทเป็น 6 บาทในปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบการผลิตหลัก 2 ชนิด คือ แป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงต้นปี
"ตลาดรวมในปี 2551 เป็นปีที่เหนื่อยหนักมากในการทำธุรกิจ เพราะต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนหลายด้าน โดยผลกระทบทางตรงของอุตสาหกรรมบะหมี่สำเร็จรูปมาจากต้นทุนวัตถุดิบหลักปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้บริษัทต้องปรับราคามาม่า จาก 5 บาทเป็น 6 บาทในปีที่ผ่านมา" นายพิพัฒกล่าว
อย่างไรก็ตาม การจัดรายการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาด มาม่า จาก 51.8% เป็น 53% และมีผลกำไรเติบโตในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งเป็นผลจากตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% และการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนใหม่ๆ
นายพิพัฒ กล่าวว่า
สถานการณ์ในปีนี้ยังคงเหนื่อยหนักต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี ทำให้ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้น และจากคาดการณ์ที่ว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอาจเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ส่งผลให้ตลาดรวมปีนี้จะขยายตัวมากที่สุดไม่เกิน 5% โดยในส่วนของบริษัทตั้งเป้ายอดขายในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 9% จะมาจากการปรับกลยุทธ์ 2 แนวทางคือ การเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้า โดยการเพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่มพรีเมียม หรือเพิ่มการผลิตมาม่าชนิดถ้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นมาก
อีกทั้งในปีนี้ยังได้เตรียมออก "มาม่า" ราคาประหยัด 5 บาท เพื่อรับกับสภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่ลดลง แนวทางนี้ เป็นแผนความช่วยเหลือตามแนวคิดของมาม่า คือ มาม่าอยู่คู่สังคมไทย และเพื่อช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย โดยจะยังใช้ตรา มาม่า และช่องทางจำหน่ายเหมือนเดิม คาดว่าสินค้าน่าจะสามารถออกมาจำหน่ายได้ในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งมาม่าที่ผลิตจำหน่ายในราคา 5 บาทนั้น ยังคงขนาดและคุณภาพเท่าเดิม แต่จะจำหน่ายในรสชาติใหม่ ไม่ซ้ำซ้อนกับรสชาติที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน
"การแข่งขันของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะรุนแรงมากทำให้ราคาจำหน่ายจริงถูกลง โดยอีกแนวหนึ่งของการเพิ่มรายได้ให้แก่มาม่า คือ การเพิ่มสัดส่วนการส่งออกให้มากขึ้น ตั้งเป้าปี 2552 เพิ่มการส่งออกเป็น 15% หลังจากที่ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 30%" นายพิพัฒกล่าว