สภาพตลาดเครื่องโทรศัพท์มือถือ เป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ปกติภายในประเทศและนอกประเทศ ทำให้ตลอดช่วงไตรมาส 4 ซึ่งปกติจะเป็นช่วงขาขึ้น ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยเพื่อต้อนรับปีใหม่ แต่มาปีนี้กลับมีผลออกมาในทิศทางตรงกันข้าม
จากความซบเซาของตลาด ส่งผลให้การแข่งขันในรูปแบบต่างๆ เป็นไปอย่างรุนแรง เพื่อเร่งยอดขายทั้งส่วนแบ่งตลาดและรายได้ แน่นอนว่ามุมหนึ่งอาจจะเป็นปัญหาสำหรับเจ้าของแบรนด์และตัวแทนจำหน่าย แต่ก็สร้างโอกาสให้อีกแบรนด์ที่แตกต่างออกไป
เห็นได้จากที่ผ่านมากระแสของเครื่องเฮ้าส์แบรนด์ ที่ราคาต่ำกว่าแต่มีฟีเจอร์ครบถ้วนมาแรงจนอินเตอร์แบรนด์ต้องหันมามองและทบทวนท่าทีใหม่
ปีหน้าแข่งหนักตลาดหดตัว
นายกิตติพงศ์ กิตติภัสสร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บมจ.ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปีหน้า อินเตอร์แบรนด์จะปรับกลยุทธ์ไปมุ่งเน้นตลาดกลาง - บน เป็นหลัก การแข่งขันไม่หวือหวามาก มีเครื่องที่รองรับ 3จี เข้ามามากขึ้น และทางหนึ่งก็เป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับเฮ้าส์แบรนด์ แต่ตลาดบนก็ต้องชนกับเครื่องไอโฟน ที่ทรูเริ่มสั่งสินค้าเข้ามาทำตลาดแล้ว
ผู้ค้าทำนายมือถือปี 52 แข่งเดือดรับตลาดหด
"ปีหน้าจะเห็นภาพตลาดบนที่มีไอโฟนเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการ มีการแข่งขันชัดเจนทั้งซิมเบี้ยน, วินโดว์ส โมบาย และพีดีเอโฟน ทำให้ตลาดแบ่งภาพชัดเจนเป็นตลาดบนราคา 10,000 บาทขึ้นไป และตลาดล่างต่ำกว่า 5,000 บาท" นายกิตติพงศ์ กล่าว ส่วนตลาดเครื่องทดแทน ผู้บริโภคจะยังเปลี่ยนเครื่องอยู่อาจจะชะลอออกไปบ้างเล็กน้อย แต่เบื้องต้นจะยังไม่ได้รับผลกระทบ ตลาดบน โดยเฉพาะอินเตอร์แบรนด์ จะหันมาแข่งขันด้านลูกเล่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะหน้าจอทัชสกรีน ที่เริ่มเห็นแนวโน้มชัดเจนตั้งแต่ปลายปีนี้แล้ว รวมถึงจะ มีการเข้ามาของระบบปฏิบัติการใหม่ คือ แอนดรอยด์ ของกูเกิล เข้ามาสร้างสีสันให้ตลาด
จากสภาพดังกล่าวทำให้อินเตอร์แบรนด์ โซนี่ อีริคสัน, โมโตโรล่า ต้องเหนื่อยกับการแข่งขันมาก ซัมซุงจะยังพออยู่ได้ ส่วนโนเกีย มีส่วนแบ่งตลาดลดลง
ขณะที่ตลาดเฮ้าส์แบรนด์ จะแข่งขันกันอย่างดุเดือด จะมีแบรนด์โนเนมโผล่เข้ามา แต่ท้ายที่สุดจะเหลือเพียงรายหลัก ๆ 3 - 4 รายเท่านั้น เช่น ไอโมบาย, โฟนวัน, ทีดับบลิวแซด ฯลฯ ผู้บริโภคต้องพิจารณาให้ดี ทีดับบลิวแซด ได้วางพื้นฐานเครื่องเฮ้าส์แบรนด์อย่างแข็งแรง จะมีโมเดลใหม่วางตลาด 20 รุ่น และเตรียมขยายช่องทางจำหน่ายและบริการให้มากขึ้นเพื่อรองรับตลาด
เขาเชื่อว่าปีหน้าตลาดจะหดตัวอย่างแน่นอน เพราะจากรายงานของจีเอฟเค จากเดิมคาดการณ์ว่าจะมียอดขาย 750,000 เครื่องต่อเดือน ก็จะลดลงต่ำกว่า 700,000 เครื่องต่อเดือน และมูลค่าเฉลี่ยต่อเครื่องก็ลดลงเหลือ 3,000 บาทแล้ว ประมาณการมูลค่าตลาดรวมจะลดลงจาก 35,000 ล้านบาทในปีนี้ เหลือประมาณ 28,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว ภาพรวมจะดีขึ้น เพราะมีปัจจัยบวกหนุนเสริมที่ดี เช่น รัฐบาลที่เริ่มฟอร์มตัวแล้ว, ราคาน้ำมันที่ลดลง และการที่สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีใหม่
มุ่งตลาดเครื่องทดแทน
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาด บมจ.เจมาร์ท กล่าวว่า ตลาดโทรศัพท์มือถือปีหน้าจะแข่งขันหนักและไม่มีการเติบโต ต่างจากปีนี้ ที่ยังมีช่วงต้นปีที่เติบโตดีมาสร้างสมดุลกับช่วงปลายปีที่ซบเซา เว้นแต่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
โทรศัพท์มือถือยังเป็นรายจ่ายท้าย ๆ ที่จะตัดออก แต่ก็จะใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าที่สุด ทำให้ตลาดใหม่ เครื่องระดับล่างมีผลกระทบหนัก
ผู้บริโภคจะซื้อเครื่องที่ราคาต่ำมากและใช้งานนานกว่าที่เคย เป็นโอกาสให้เฮ้าส์แบรนด์เข้าไปทำตลาดได้มากขึ้น สามารถเสนอฟีเจอร์ที่แตกต่างเช่นเดียวกับปีนี้ เช่น ทีวีโมบาย, โทรศัพท์ 2 ซิม แต่ปีหน้าการออกแบบจะดูดีขึ้น
ตลาดปีหน้า คาดว่าจะมีขนาดประมาณ 7 ล้านเครื่อง และ 60 - 70 % เป็นตลาดเครื่องทดแทน
เพราะปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 50 ล้านคน ถ้าเปลี่ยนเครื่องใหม่กันประมาณ 10 % ก็แสดงว่าปีหน้าจะเปลี่ยนเครื่องถึง 5 ล้านเครื่อง ดังนั้นการแข่งขันจะอยู่ที่การให้บริการ, โปรโมชั่นราคา, ตัวสินค้า และการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ากลับมาซื้อใหม่
นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เจมาร์ทมีธุรกิจทั้ง 2 ขา คือมีเครื่องอินเตอร์แบรนด์หลัก ๆ ครบถ้วนตอบโจทย์ลูกค้าที่ชื่นชอบลูกเล่น ความทันสมัย และก็มีเครื่องเฮ้าส์แบรนด์ เจโฟน สำหรับลูกค้าที่ต้องการลดรายจ่าย ประกอบกับเจมาร์ทมีสาขาทั่วประเทศ มีคุณภาพ บริการ และรูปแบบสินค้าครบถ้วน
"เจมาร์ทมีบริการที่ดี ดูแลลูกค้าได้ดี เพราะมีการฝึกอบรมพนักงาน ลูกค้าจะกลับมาซื้อเครื่องใหม่ที่ร้าน เพราะสินค้าราคาถูกหาซื้อที่ไหนก็ได้ แต่บริการที่ดีไม่ได้มีทุกร้าน และจะหวังลูกค้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นซื้อมือถือใช้ เป็นเรื่องยาก" นายกิตติพงศ์ กล่าว