เผย เจ้าพระยา ขั้นวิกฤติหนัก สุดเสื่อมโทรม

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์มลพิษในรอบปี 2551 ว่า

กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามสถานการณ์มลพิษด้านคุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำชายฝั่ง ปัญหาอากาศและเสียงและด้านสารอันตรายและกากของเสีย ปรากฏว่าคุณภาพน้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ร้อยละ 23 ถ้าเทียบกับ 3 ปีย้อนหลัง โดยเฉพาะแม่น้ำเสียว แม่น้ำตรัง ลำตะคอง ตอนบน น้ำชี น้ำพอง ลำปาวและแควใหญ่ อยู่ในเกณฑ์ดีและพอใช้ มีเพียงแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เปลี่ยนจากเกณฑ์เสื่อมโทรมในปี 2550 มาเป็นเสื่อมโทรมมาก สาเหตุหลักเกิดจากน้ำทิ้งจากชุมชน  เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมากทม.ยังไม่ได้สร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม ทำให้บำบัดน้ำเสียได้แค่ 1 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น ทั้งนี้ กทม.มีแผนก่อสร้างโรงบำบัดอีก 3 จุดในเขตพื้นที่คลองเตย ธนบุรี และบางซื่อ โดยคาดว่าถ้าแล้วเสร็จจะทำให้อีก 3 ปี คุณภาพน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง น่าจะเปลี่ยนไปอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้


ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเป็นห่วงว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะเป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนในการป้องกัน

และจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษในกระบวนการผลิตทั้งเรื่องของการบำบัดน้ำเสีย การกำจัดกากของเสียอันตรายอย่างถูกวิธี ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี ว่ามีการลักลอบแอบนำถังสารเคมีที่มีลักษณะสีดำ ข้นเหนียวและมีกลิ่นเหม็น จำนวน 200 ถัง ถังละ 200 ลิตร ไปทิ้งที่วัดหนองผักบุ้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยทางหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี ของ คพ.ได้ลงไปในพื้นที่ เพื่อสอบสวนว่าเป็นสารอันตรายชนิดไหนแล้ว แต่ตอนนี้ได้ กันพื้นที่ห้ามประชาชนเข้าใกล้แล้ว รวมทั้งถ้าทราบราย ละเอียดแล้วจะตรวจสอบหาเจ้าของได้ไม่ยาก เนื่องจากได้ติดตั้งระบบจีพีเอส และจำแนกรายละเอียดการขนส่งสารในรถบรรทุกกากของเสียที่ออกจากพื้นที่ จ.ระยอง มาแล้วระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงอยากขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกแห่งว่า ถึงแม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว ก็อย่าลดต้นทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อมเลย


ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงสถานการณ์คุณภาพอากาศ ว่า มลพิษหลักยังคงเป็นฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน

โดยเฉพาะใน ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี พื้นที่ จ.ราชบุรี สมุทรปราการ ลำปาง พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ และนครราชสีมา ส่วน กทม. ฝุ่นริมถนนค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ในช่วง 8.1-205.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน ร้อยละ 3.3 ลดลงจากปี 50 ที่ตรวจวัดได้ในช่วง 9.8-242.7 มคก./ลบ.ม. หรือร้อยละ 4.7 พื้นที่ที่ยังมีปัญหาคือ ถนนดินแดง พระราม 6 พระราม 4 ราชปรารภ พิษณุโลก สุขุมวิท เยาวราช สามเสน สุขาภิบาล 1 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหามลพิษทางอากาศจากก๊าซโอโซนที่เกินมาตรฐานเป็นครั้งคราว ใน กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ราชบุรี


“แนวโน้มปัญหาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์กำลัง จะกลับมาเป็นมลพิษอันดับต้นๆในพื้นที่ กทม. หลังจากที่ปี 2548-2549 มลพิษดังกล่าวไม่เคยพบเกินมาตรฐาน แต่ระหว่างปี 50-51 ตรวจพบก๊าซดังกล่าวเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในเขตที่มีการจราจรหนาแน่นมากอาทิ พื้นที่ดินแดง โดยสาเหตุหลักมาจากรถเก่าที่ไม่ได้รับ การดูแลรักษาเครื่องยนต์จำนวนหนึ่ง มีการนำไปติดตั้งก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ทั้งที่ส่วนใหญ่เข้าใจว่ารถใช้ก๊าซจะลดมลพิษ แต่จากการสุ่มตรวจพบว่ารถใช้ก๊าซกลับมีมลพิษตัวนี้ออกมาในปริมาณสูงมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการติดตั้งระบบก๊าซในส่วนควบคุมการจ่ายก๊าซไม่มีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาจะเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ไม่ได้คำนึงถึงมลพิษ ทั้งนี้ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประสานไปยังกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก ให้ตรวจสอบการระบายมลพิษจากการติดตั้งก๊าซด้วย เพราะถ้าไม่ ควบคุมอนาคตก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะทำให้มลพิษใน กทม.น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุ 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์