เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยถึงปรากฏ การณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ในช่วงก่อนสิ้นปี 2551 ว่า
ในคืนวันที่ 29 ธ.ค. ช่วงหัวค่ำ ท้องฟ้าทิศตะวันตก จะเห็นดาวพฤหัสบดีและดาวพุธอยู่ใกล้ดวงจันทร์ แต่จะไม่สวยเหมือนพระจันทร์ยิ้ม ซึ่งดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงกัน โดยในคืนดังกล่าว ดวงจันทร์และดาวพุธจะอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้ามาก มุมไม่เกิน 20 องศา อาจจะเรียกกันเล่น ๆ ว่าเป็นพระจันทร์นอนยิ้มก็ได้ อย่างไรก็ตามอยากให้ดูปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนในคืนวันที่ 31 ธ.ค. จะดีกว่า โดยจะเห็นดวงจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ และดาวศุกร์สว่างจ้าอยู่ทางซ้ายของดวงจันทร์ ดูได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินช่วงหัวค่ำไปจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น.
ทั้งนี้ข้อมูลในเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า เวลาหัวค่ำตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพุธและดาวพฤหัสบดี
เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพุธ สามารถเห็นได้ในพื้นที่บริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เป็นเวลากลางวัน และดวงจันทร์จะบังดาวพฤหัสบดี สังเกตได้บริเวณเกาะฟลอเรสและเกาะติมอร์ในแถบตอนใต้ของประเทศอินโดนีเซีย และอาจพอสังเกตเห็นได้ขณะท้องฟ้ายังไม่มืดในตอนเหนือของประเทศ ออสเตรเลีย
ส่วนดาวพุธ เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตกตั้งแต่ช่วงเทศกาลคริสต์มาสไปจนถึงกลางเดือน ม.ค. 2552
โดยอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแพะทะเล ช่วงดังกล่าวดาวพุธจะเคลื่อนเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีมากที่สุดในค่ำวันพุธที่ 31 ธ.ค. ด้วยระยะเชิงมุม 1.2 องศา โดยสองวันก่อนหน้านั้นจะเห็นดวงจันทร์เสี้ยวมาอยู่ใกล้ดาวเคราะห์ทั้งสองในค่ำวันที่ 29 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์สองครั้งนี้อาจสังเกตได้ค่อนข้างยากเพราะอยู่ใกล้ขอบฟ้า.