เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพบร้านค้าในสถานีขนส่งหมอชิต ขนส่งสายใต้ ต่างโก่งราคาสินค้าสูงกว่าปกติถึง ร้อยละ 10-20
โดยเฉพาะอย่างยิ่งของจำเป็น ทั้งอาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม ยารักษาโรค ยาดม ยาหม่อง แม้แต่ในศูนย์อาหารของสถานี ยังจำหน่ายอาหารเริ่มต้นที่จานละ30 บาท ซึ่งสูงมากกว่าร้านอาหารทั่วไปที่เริ่มต้นเพียง25 บาท รวมถึงร้านสะดวกซื้อ ในขนส่งสายใต้ ก็ยังจำหน่ายน้ำดื่มแพงกว่าสาขาอื่นถึงขวดละ 2-3 บาท ซึ่งเมื่อสอบถามพนักงานได้รับคำตอบว่า ต้องขายให้ใกล้เคียงกับร้านค้าอื่นในสายใต้ ขณะที่บริเวณจุดพักรถทัวร์ตามสถานีต่างจังหวัด จำหน่ายยาแก้ปวดศีรษะแผงละ 30 บาท แต่ร้านทั่วไปขายเพียงแผงละ 10 บาท
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ยังได้รับการร้องเรียนจากผู้เดินทางว่า รถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฉวยโอกาสคิดค่าบริการแพงกว่าปกติ
บางรายก็ปฏิเสธการให้บริการ หรือไปส่งแต่ไม่ถึงที่หมาย หรือคิดแบบเหมาจ่ายแทนกดมิเตอร์แท็กซี่ โดยอ้างว่าบริเวณสถานีหมอชิตรถติด เมื่อสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้รับคำตอบจากนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ว่าในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ กระทรวงจะเชิญผู้บริหารบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) มาหารือถึงแนวทางที่จะทำให้ร้านค้าในสถานีขนส่งขายสินค้าราคาปกติ หรือใกล้เคียงกับท้องตลาดทั่วไป หลังจากที่สอบถามผู้ค้าที่ขนส่งได้รับคำตอบว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขายสินค้าแพงกว่าท้องตลาดเพราะต้องเสียค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง
ส่วนนายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขอเตือนให้ร้านค้าบริเวณสถานีขนส่ง อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาขายในช่วงเทศกาลที่มีคนใช้บริการมาก เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และทำให้ประชาชนเดือดร้อน
โดยกรมจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสถานการณ์ หากพบผู้จำหน่ายไม่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า มีโทษปรับ 10,000 บาท หากกักตุนสินค้า หรือจำหน่ายเกินราคา มีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดพบร้านค้าขายสินค้าไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วนแม่บ้าน 1569 นายยรรยงกล่าวด้วยว่า จะหารือกับ บขส. วันที่ 30 ธ.ค.นี้ ถึงรายละเอียดของการเช่าพื้นที่และหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือลดราคาจำหน่ายลง แต่ หากไม่สามารถปรับลดราคาได้ กรมการค้าภายในเตรียมนำโครงการธงฟ้าเข้ามาบริการประชาชนภายในสถานี ขนส่ง เพื่อเพิ่มทางเลือก และช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน
ทั้งนี้ หลังจากเริ่มนำร่องที่สถานีขนส่งหมอชิตแล้ว จะขยายการหารือถึงการจำหน่ายสินค้าตามสถานีขนส่ง เช่นเอกมัย สายใต้ รวมทั้งหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หัวลำโพง
เพราะจากการติดตามพบว่า ตามสถานี ขนส่งส่วนใหญ่จะจำหน่ายสินค้าสูงกว่าตามท้องตลาด โดยอ้างว่าค่าเช่าพื้นที่สูง และค่าบริหารจัดการ ทำให้ ประชาชนไม่มีทางเลือกโดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สั่งให้พาณิชย์จังหวัด ดูแลการจำหน่ายสินค้าตามสถานีขนส่ง รถทัวร์ รถไฟ สถานที่ท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชน โดยเฉพาะในช่วงขาเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ โดยช่วงปีใหม่มีคนเดินทางท่องเที่ยวและใช้บริการมาก จึงไม่อยากให้ฉวยโอกาส เพราะเป็นการทำลายชื่อเสียงในระยะยาว อย่าคิดว่าช่วงวันหยุดจะไม่มีเจ้าหน้าที่ ขอเตือนร้านค้า กรมการค้าภายในยังส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลตลอด ยิ่งช่วงปีใหม่ที่มีคนใช้บริการมาก จำเป็นต้องดูแลตรวจสอบให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
ด้านนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับภาคเอกชน
จัดโครงการอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับผู้เดินทางขับขี่รถยนต์ช่วงเทศกาลปีใหม่ โดย คปภ. จะเปิดสายด่วนประกันภัย 1186 ตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการประกันภัย รวมทั้งร่วมกับภาคเอกชนจัดตรวจเช็กสภาพรถก่อนเดินทางให้เกิดความปลอดภัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย