รัฐเตรียมแพ็กเกจภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ ยอมหั่นภาษีให้เอสเอ็มอี 5% ตั้งเงื่อนไขไม่ปลดคนงาน "กรณ์" สั่งแบงก์รัฐปล่อยเงินกู้เพิ่มขึ้น ระหว่างรอเบิกจ่ายงบกลางแสนล้าน หวั่นล่าช้าไม่ทันการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลจะนำมาใช้ โดยจะจัดทำเป็นแพ็กเกจ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% เพราะไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ทำให้สถานประกอบการปลดคน ส่วนมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่จะเพิ่มการลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านและอสังหาฯ อื่นๆ คงต้องพิจารณาร่วมกันอีกครั้งว่าจะเพิ่มค่าลดหย่อนเท่าไร แต่จุดประสงค์หลักของการออกมาตรการนี้ เพื่อให้คนมีเงินที่มีกำลังซื้ออยู่นำเงินมาซื้อบ้าน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า
มาตรการทางภาษีที่จะออกมาค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จะมีไม่การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% ให้แก่ทุกบริษัท แต่รัฐบาลจะมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้สถานการประกอบการเอสเอ็มอีที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ได้รับการลดภาษินิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีการปลดพนักงาน ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ไม่เกิน 5 พันล้านบาท
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า
ได้สั่งการให้ธนาคารของรัฐทุกแห่งเตรียมปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการให้มากขึ้น ในระหว่างที่ยังรองบประมาณกลางปี 2552 วงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดว่าจะเข้าสู่ระบบได้อย่างเร็วในเดือนเมษายน 2552 ซึ่งช้าเกินไป จึงจำเป็นต้องหาแนวทางปล่อยกู้ให้ประชาชนเพื่อดำเนินธุรกิจและมีสภาพคล่องในระบบมากขึ้น
"ผมเชื่อว่าแบงก์รัฐมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ ระหว่างที่ยังไม่ใช้งบประมาณกลางปี 2552 เพราะหลายคนคาดการณ์ว่างบประมาณอาจออกล่าช้า ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันท่วงที จึงต้องหาแนวทางที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้าไปก่อน” นายกรณ์กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 27-28 ธันวาคมนี้ ได้เตรียมหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากงบประมาณกลางปี 2552 วงเงิน 1 แสนล้านบาท สำหรับนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินต่อได้ พร้อมทั้งเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นช่วงปลายเดือนมกราคม 2552 แน่นอน
นายกรณ์กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2552 จะขยายตัวที่อัตรา 0-2% ว่าตัวเลขจีดีพีในปี 2552 น่าจะขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายดังกล่าว เพราะมีการใส่ปัจจัยเข้าไปในโมเดลเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเลขจะเป็นเท่าใดนั้น ยังคงประเมินไม่ได้ในขณะนี้ เพราะต้องรอตัวเลขที่จะใช้กำหนดเป็นนโยบายทั้งหมดก่อน พร้อมยอมรับว่าเป็นห่วงปัญหาการขาดดุลแฝด ทั้งการขาดดุลงบประมาณและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน