เทงบ1.7หมื่นล้าน ช่วยตกงาน5แสนคน

“อัมมาร” ชี้วิกฤติเศรษฐกิจทำงานตกงานไตรมาสแรก 8.8 แสนคน แนะรัฐกระจายเม็ดเงินไปสู่รากหญ้าโดยเร็ว แต่อย่าทำแบบชุ่ย ๆ ขวางนโยบายลดภาษี ขณะที่ “รัฐบาล” ผุดโครงการ “ส่งแรงงานกลับบ้าน” เทงบ 1.7 หมื่นล้าน อุ้มคนตกงาน 5 แสนคนในปีหน้า ด้าน “รมว.แรงงาน” ชูนโยบาย “3 ลด 3 เพิ่ม” เป็นวาระแห่งชาติ ระบุแก้ปัญหาว่างงานได้กว่า 1 ล้านคน


เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า

รัฐบาลมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือแรงงานตกงานในปี 52 จำนวน 5 แสนคน ครอบคลุมทั้งแรงงานเก่าและแรงงานใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ “ส่งแรงงานกลับบ้าน”ใช้เงินงบประมาณ 17,000 ล้านบาท มีขั้นตอนคือรัฐบาลจะจ้างแรงงานที่ตกงานเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อนำมาฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพตามที่แรงงานต้องการหรือมีความถนัด  จากนั้นก็จะให้แรงงานเลือกว่าตนเองต้องการทำอะไรในภูมิลำเนาของตนเอง ก็จะประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีโครงการ ธ.ก.ส.สานฝันแรงงาน อยู่แล้ว เพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้กับแรงงาน หรือโครงการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มี โครงการ “คืนคุณครูให้นักเรียน” โดยแรงงานที่ตกงานอาจเข้ามารับการฝึกอบรมเพื่อเป็นครู แล้วกลับไปสอนหนังสือในภูมิลำเนาของตน โดยผ่านโครงการดังกล่าวก็ได้


อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า

ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งไม่สามารถรองบประมาณกลางปี 1 แสนล้านบาทได้ ดังนั้นรัฐบาลมีแนวคิดที่จะใช้มาตรการกึ่งการคลัง โดยใช้กลไกของธนาคารของรัฐเข้ามาอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแทน เช่น การให้ธนาคารออมสินเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้แทน เป็นต้น โดยรัฐบาลต้องขอมติ ครม. เพื่อให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังขึ้นและทำให้บิดเบี้ยวไปบ้าง แต่ต้องทำ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน
 
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ  และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปสภาวะของประเทศให้กับครม. โดยระบุว่าการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในระยะต่อไป ต้องดำเนินการใน 8 แนวทาง เช่น การออกมาตรการดูแลการว่างงาน การสนับสนุนศักยภาพของสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญในการจ้างแรงงาน การดูแลราคาสินค้าเกษตร การสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุนและการท่องเที่ยว การเร่งรัดเมกะโปรเจคท์ การรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด เป็นต้น
 
ที่กระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงนโยบายการแก้ปัญหาสถานการณ์การเลิกจ้างในปี 52 ว่า

ตนจะเสนอมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้เพื่อพิจารณากำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ประกอบด้วยมาตรการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม ได้แก่ลดอัตราการว่างงาน ลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ลดค่าครองชีพ เพิ่มตำแหน่งงานว่าง เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ เพิ่มการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยนำเงิน 1 หมื่นล้านปล่อยกู้ให้กับนายจ้าง 6 พันล้านบาทและลูกจ้าง 4 พันล้านบาท นอกจากนี้ได้สั่งการให้นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาทบทวนเงินงบประมาณ 1.5 พันล้านบาท ที่จะเสนอรัฐบาลอนุมัติ จากงบประมาณกลาง 1 แสนล้าน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และอาจจะต้องมีการเพิ่มจำนวนวงเงินงบประมาณ
 
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า
 
ทั้งนี้ มั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดจะช่วยแก้ปัญหาคนว่างงานได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน จากจำนวนคนว่างงานที่คาดการณ์ว่าในปี 2552 จะมีการเลิกจ้างสูงถึง 1.5 ล้านคน  ตนจะเข้ามาแก้ปัญหาการประท้วงของคนงาน ไม่ให้ออกมาชุมนุมปิดถนนเหมือนที่เคยเป็น “ผมจะไม่ทอดทิ้งผู้ใช้แรงงานอย่างแน่นอน จะเน้นวิธีให้นายจ้างและลูกจ้างเจรจากันก่อน หากสรุปไม่ได้เราจะเป็นตัวกลางช่วยเจรจาโดยในวันพรุ่งนี้ (24 ธ.ค.) จะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์การเลิกจ้างในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และในวันที่ 26 ธ.ค. จะลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว”
 
ด้าน นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า
 
จากตัวเลขวิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบกับตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่าขณะนี้มีคนว่างงานจำนวน 4.5 แสนคน กระทรวงแรงงานจึงได้จัดงานมหกรรมนัดพบแรงงานวันเสาร์โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างที่ตกงาน ว่างงาน นักศึกษาที่จบใหม่ ได้เข้ามาหางานพร้อมสัมภาษณ์งานกับนายจ้างที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กว่า 1 หมื่นบริษัท ซึ่งโครงการดังกล่าวเปรียบเสมือนตลาดนัดของคนหางานมาเลือกตำแหน่งงานได้ตามความต้องการ
โดยโครงการนี้จะดำเนินการภายในระยะเวลา 3 เดือน คือ ทุกวันเสาร์ของเดือน ม.ค.-มี.ค.และในวันดังกล่าวมีจำนวน 131,992 อัตรา หากยังมีลูกจ้างจำนวนมากยังไม่สามารถบรรจุงานได้ก็พร้อมที่จะขยายโครงการเพิ่ม โดยครั้งแรกจะจัดวันเสาร์ที่ 17 ม.ค. 52 ที่กระทรวงแรงงาน 
 
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า
 
จากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและอัตราการว่างงาน โดยหลังไตรมาส 1 จะมีคนว่างงานประมาณ 8.8 แสนคน ดังนั้นนโยบายการคลังต้องมีหลักอยู่  3 อย่าง คือ 1.รัฐบาลต้องกระจายเม็ดเงินเข้าไปในระบบได้อย่างรวดเร็ว 2.ต้องเป็นมาตรการที่สามารถเลิกได้ในอนาคต เน้นการใช้จ่ายมากกว่าการลดภาษี เพราะการลดภาษีเงินได้ขณะนี้ไม่เหมาะสม เท่ากับการอัดฉีดเงิน เพราะการลดภาษีคนที่ได้คือบริษัท โดยบริษัทจะกลัวไม่มีลูกค้า พอมีเงินจะเก็บเอาไว้ ไม่ลงทุนไม่ใช้จ่าย ผลพวงที่เกิดจากการลดภาษีจะน้อยมาก
และ 3.ควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการริเริ่มนโยบายที่ไม่ได้รับความสนใจในสภาวะปกติ
 
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า นายกฯบอกว่า
 
จะพยายามให้เม็ดเงินไปถึงรากหญ้า เป็นเรื่องที่ดี แม้จะเรียกว่าประชานิยมก็ช่าง ซึ่ง นายกฯ จะสบายกว่าสมัย นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีต รมว.คลังมาก โดยสามารถโปรยเงินไปได้ทั่วเมือง แต่ต้องระมัดระวัง คือ โปรยเงินอย่างฉลาดไม่ใช่ชุ่ย ๆ เอาเงินไปแจกพรรคพวกพี่น้อง แต่ถึงแม้จะเอาเงินไปแจกพ่อแม่พี่น้องก็เป็นการสร้างกำลังซื้อ ที่ต้องระมัดระวังคือ นโยบายขาดดุลงบประมาณ เป็นการสร้างหนี้ให้ลูกหลาน ที่จำเป็นต้องทำ จากปัญหาการว่างงาน จะมีแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมไหลไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยอัตโนมัติ หลังจากออกจากงานแล้ว 6 เดือน ขณะเดียวกันบรรดาครอบครัวของผู้ประกันตน และเกษตรกรที่ใช้บริการ รพ.เอกชน โดยจ่ายเงินเอง จะหันมาใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากขึ้น.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์