สภานายจ้างฯ แฉเหลี่ยมนายทุนจ้องปิดกิจการช่วงลูกจ้างกลับบ้านเที่ยวปีใหม่ ชี้ รง.รับออเดอร์ต่างชาติ คือกลุ่มเสี่ยง ปลัดฯ แรงงาน เรียก 14 องค์กรถกรับวิกฤติเลิกจ้าง 15 ธ.ค.นี้ ยันไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 52 ขณะที่ฉันทนาบางพลีกว่า 1,000 ฮือปิดจี้ปลดผู้บริหาร-ขอโบนัสเพิ่ม
ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมแทบทุกประเภทในขณะนี้ ส่งให้แรงงานถูกเลิกจ้างแล้วจำนวนมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วงปีใหม่ซึ่งเป็นวันหยุดระยะยาว 5 วัน จะมีสถานประกอบการหลายแห่งถือโอกาสให้ลูกจ้างหยุดยาวหลายวัน หลังจากนั้นจะปิดยาวต่อไปอีกสุดท้ายก็จะปิดกิจการ เนื่องจากหากปิดกิจการในช่วงนี้ลูกจ้างอาจลุกฮือประท้วงได้ จึงถือโอกาสในช่วงปีใหม่ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกจ้างกลับภูมิลำเนา โดยสถานประกอบการที่รับออเดอร์มาจากต่างประเทศ หรือในกลุ่มนายทุนต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยเป็นสภาวะกลุ่มเสี่ยง
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายระบุว่าในปี 2552 จะมีคนตกงานประมาณ 4.5 ล้านคน นายปัณณพงศ์ กล่าวว่า หากเป็นจริงคงต้องมีการปิดประเทศ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ตัวเลขสูงเกินไป คิดว่าคงไม่เกิน 1 ล้านคน และการออกมาระบุเช่นนี้ส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ
“ผลกระทบจากการให้ข้อมูลที่มากทำให้เกิดการตื่นตระหนก บางแห่งก็มีตำแหน่งงานว่าง จากการตรวจสอบตัวเลขจากกระทรวงแรงงานเองก็ยังไม่ถึงแสนคน ส่วนในช่วงวันหยุดปีใหม่น่าเป็นห่วงโรงงานที่ยังไม่มีสหภาพแรงงาน และนายจ้างไม่ยอมพูดความจริงกับลูกจ้าง ในช่วงนี้ลูกจ้างควรสังเกตว่า สถานประกอบการที่ทำงานอยู่เข้าข่ายนี้หรือไม่ กระทรวงแรงงานเองก็ต้องช่วยเฝ้าระวังจะได้เข้าช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์หรือหางานใหม่ให้ทำได้ทันท่วงที” นายปัณณพงศ์กล่าว
ด้านนางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสร.ได้เชิญนายจ้างกว่า 400 แห่งมาประชุมให้ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองและแรงงานสัมพันธ์ โดยให้ลูกจ้างไม่เสียสิทธิและไม่ให้นายจ้างบอบช้ำมาก และ 5 หน่วยงานของกระทรวงแรงงานให้ความมั่นใจว่า จะไม่มีการทอดทิ้งทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในส่วนสถานประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม กสร.มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกเดือน ทั้งนี้ในวันที่ 23-25 ธันวาคมนี้ จะจัดประชุมวิเคราะห์สถานการณ์กับนายจ้างในกรุงเทพฯ ส่วนภูมิภาคอื่นจะดำเนินการไม่เกินเดือนมกราคม 2552 เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างได้รับทราบแนวทางในการปฏิบัติในภาวะวิกฤติเช่นนี้
ฮือปิดถนนท้วงโบนัส
เมื่อเวลา 09.00 น. พ.ต.ต.อาชาไนย แสนสุข สารวัตรจราจร สภ.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ รับแจ้งเหตุพนักงานกว่า 1,000 คน ของบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการผลิตอะไหล่ช่วงล่างรถยนต์ ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ 7 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ชุมนุมปิดถนนกิ่งแก้ว-ลาดกระบัง ฝั่งขาออกที่มุ่งหน้าสู่ถนนบางนา-ตราด ในทุกช่องทางจราจร ทำให้ยานพาหนะไม่สามารถผ่านไปได้ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก นอกจากนี้เส้นทางที่เป็นจุดเชื่อมและเส้นทางเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิยังได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ตำรวจต้องระดมกำลังจัดการจราจรใหม่ โดยแบ่งช่องจราจรถนนฝั่งขาเข้าซึ่งไม่ถูกปิดเป็นช่องเดินรถแบบสวนทางกัน เพื่อระบายยวดยานที่ต้องเดินทางสู่สนามบินสุวรรณภูมิ
ต่อมา พ.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ (รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ) นำตำรวจชุดปราบจลาจล 100 นาย พร้อมโล่และกระบอง ตรึงกำลังบริเวณพื้นที่ชุมนุมเพื่อป้องกันเหตุร้าย เนื่องจากพบว่าพนักงานบางคนดื่มสุรา
นายสุชาติ เกษมศาสนต์ อายุ 35 ปี ตัวแทนพนักงานบริษัทยานภัณฑ์ กล่าวว่า บริษัทแห่งนี้มีกิจการ 3 สาขา ได้แก่ สาขาปากทางเข้าถนนกิ่งแก้ว ด้านถนนบางนา-ตราด มีพนักงาน 419 คน สาขาถนนกิ่งแก้ว-ลาดกระบัง มีพนักงาน 1,200 คน ในจำนวนนนี้ 10% เป็นพนักงานแบบเหมาช่วง หรือซับคอนแทรค และสาขา อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา มีพนักงาน 300 คน ส่วนสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สุขุมวิท 81 กรุงเทพฯ
ตัวแทนพนักงานคนเดิมกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการดีมาโดยตลอด จ่ายเงินล่วงเวลาทุกวัน หรือโอที กระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้บริหารมีคำสั่งให้ลดโอที และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา ผู้บริหารแจ้งกับพนักงานว่า จะงดการจ่ายเงินโบนัส แต่จะให้เงินสินน้ำใจในช่วงปีใหม่ คนละ 5,000 บาท ทำให้พนักงานไม่พอใจ จึงนัดหยุดงานเพื่อรวมตัวกันประท้วงตั้งแต่เวลา 00.01 ของวันที่ 12 ธันวาคม ภายในบริเวณโรงงานและขยายมาสู่การปิดถนนสายดังกล่าวในช่วงเช้าของวันเดียวกัน
สำหรับการชุมนุมปิดถนนประท้วงครั้งนี้ พนักงานยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหาร 6 ข้อ ดังนี้ 1.ตั้งสหภาพแรงงานในบริษัท 2.ขอโบนัสรวม 4 เดือนทุกคน 3.พนักงานที่ทำงานเกิน 1 ปี (ซับคอนแทรค) ขอให้บรรจุเป็นพนักงานประจำ 4.ขอให้มีการขึ้นเงินเดือนประจำปี เฉลี่ยคนละ 500 บาท 5.ไม่ให้เอาผิดกับพนักงานที่ชุมนุมทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง และ 6.ขอให้เปลี่ยนผู้บริหาร 3 คน
จากนั้น ฝ่ายพนักงานส่งตัวแทน 15 คนเข้าไปเจรจากับนายจ้าง โดยมีนายนิพนธ์ เลิศศรีสุวัฒนา นายอำเภอบางพลี และเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมเจรจา กระทั่งเวลา 12.00 น. ทางแกนนำพนักงานแจ้งกับผู้ชุมนุมว่า นายจ้างรับปากจะจ่ายเงินโบนัส 1.5 เท่าของเงินเดือน แต่ผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจ เพราะต้องการโบนัสอย่างต่ำ 3 เดือน โดยไม่มีการกำหนดอายุงาน ดังนั้นตัวแทนพนักงานและนายจ้างจึงเปิดการเจรจากันอีกครั้ง
พนักงานหญิงฝ่ายผลิต อายุ 25 ปี กล่าวว่า ทำงานมาครบ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ ที่ผ่านมารับเงินเดือน 6,000-7,000 บาท ต้องมีภาระเลี้ยงลูกอีก 2 คน ถ้าได้โบนัสและปรับเงินเดือนตั้งใจว่าจะส่งเงินไปให้ลูกที่ต่างจังหวัด จึงอยากขอร้องให้นายจ้างทำตามข้อเรียกร้องของพนักงาน เพื่อความมั่นคงในชีวิต
ด้านพนักงานชายฝ่ายสโตร์ อายุ 41 ปี กล่าวว่า ทำงานมาแล้ว 20 ปีได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,900 บาท ภาระที่ต้องแบกรับในขณะนี้คือ ผ่อนบ้านดือนละ 6,500 บาท แต่เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภรรยาซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งถูกเลิกจ้าง ทำให้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพียงลำพัง
"ที่สำคัญผมลูก 2 คน ก็ยังเล็กอยู่ เวลานี้เรียนหนังสืออยู่ชั้นอนุบาล และระดับประถมศึกษา ที่ผ่านมาต้องกู้เงินนอกระบบไปจ่ายค่าเทอมให้ลูก ตั้งใจว่าหากมีการขึ้นเงินเดือนและได้โบนัส ก็จะนำเงินก้อนนี้ไปใช้หนี้" พนักงานวัย 40 ปี กล่าวด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย
ถกรับวิกฤติเลิกจ้าง 15 ธ.ค.นี้
วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวการประชุมสุดยอดผู้นำ 14 องค์กรด้านเศรษฐกิจรองรับวิกฤติทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาในการเลิกจ้างว่า กระทรวงแรงงานเป็นห่วงผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 36 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานแบบเหมาช่วงกว่า 1 ล้านคน โดยกลุ่มแรงงานดังกล่าวเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างเป็นอันดับแรก หากนายจ้างต้องการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ถูกเลิกจ้างไปแล้วกว่า 6 หมื่นคน ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาน่าเป็นห่วงมากที่สุด
ดังนั้นในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน เช่น กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังวิกฤติเศรษฐกิจ มาประชุมหารือมาตรการรองรับวิกฤติครั้งนี้ ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ กำลังรอนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่า จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร จะสามารถเยียวยาเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 อย่างไร
ยันไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำปี 52
ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวอีกว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2552 ยังไม่มีการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนเช่นทุกปี ที่จะประกาศปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีในวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมติของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองวิชาการค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ชะลอพิจารณาปรับเพิ่มโดยเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงนายจ้างสถานประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม จะเริ่มมีการพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงไตรมาส 2 (เดือนเมษายน- มิถุนายน) ของปี 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
จี้รัฐเร่งแผนรับมือคนตกงาน
นายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ชะลอตัวลง 1% จะทำให้มีคนตกงานถึง 3.5 แสนคน และหากจีดีพีลดลง 3% จะมีคนตกงานกว่า 1 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลใหม่จะต้องเตรียมรับมือกับปัญหาคนตกงานให้ดี โดยต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน หากป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ 70-80% ก็ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในงานสัมมนา “แนวทางและมาตรการรับมือวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลก” ว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงมากในปีหน้า และคาดว่าจะมีคนตกงานเพิ่มเป็น 1.2-2 ล้านคน โดยเป็นแรงงานในภาคท่องเที่ยวจะว่างงานถึง 8 แสน-1 ล้านคน จากผลกระทบการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับ 1.4-1.5 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวเพียง 0-3% ดังนั้น รัฐบาลใหม่ควรเร่งออกแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเร็ว
ธ.ก.ส.ปล่อยกู้อุ้มคนตกงาน
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หารือกับสำนักงานกองทุนประกันสังคม (ส.ป.ส.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับความร่วมมือในโครงการให้ความช่วยเหลือคนตกงาน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนั้น ส.ป.ส.จะนำเงินส่วนหนึ่งจากวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทมาฝากไว้กับ ธ.ก.ส. จากนั้นให้ ธ.ก.ส.นำไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้สมาชิกของประกันสังคมที่ตกงาน และกลับไปประกอบอาชีพส่วนตัว โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
ศก.แย่เขยฝรั่งบินกลับประเทศ
นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับภาคเอกชนใน 4 จังหวัดหลักภาคอีสาน ได้แก่ จ.ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และอุบลราชธานี ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปีหน้าที่คาดว่าจะถดถอย ซึ่งสังเกตได้จากแรงงานไทยที่ไปทำงานยังต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ไต้หวันส่งเงินกลับมาน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ขณะที่เขยฝรั่งที่ปกติจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ขณะนี้ก็เริ่มเดินทางกลับประเทศมากขึ้น และที่น่ากังวลอีกเรื่องก็คือ หนี้สินส่วนบุคคลที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะคนตกงานจึงหันพึ่งเงินนอกระบบ เรื่องแบงก์ปลอมระบาด ผู้ประกอบการที่ทำการค้าเกี่ยวกับการผ่อนส่งเริ่มจะมีปัญหา
มช.ของบใหม่ 100 ล.อุ้มบัณฑิตใหม่
ขณะเดียวกัน รศ.นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า เตรียมมาตรการช่วยเหลือบัณฑิตจบใหม่ของปีนี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,700 คน ในจำนวนบัณฑิตจบใหม่ เมื่อหักบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ แพทย์ พยาบาล และทันตแพทย์ ซึ่งมีงานรองรับร้อยเปอร์เซ็นต์ จะคงเหลือบัณฑิตอีกประมาณ 3,000 คนที่ต้องว่างงาน ในส่วนนี้มหาวิทยาลัยได้ประสานกับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 100 แห่ง เพื่อขอให้บัณฑิตเหล่านี้เข้าทำงานที่ละ 30 คน ในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เขียนโครงการเสนอของบประมาณไปยังรัฐบาลผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อของบ 100 ล้านบาท สำหรับจ่ายเป็นเงินเดือนให้บัณฑิตเดือนละ 6,000 บาท
เสนอตั้ง กก.แรงงานจับตายานยนต์
ขณะเดียวกัน นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหพันธ์ได้จัดประชุมสัมมนา สมาชิก และบริษัทรถยนต์นายจ้าง เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะหดตัวในปี 2552 ทำให้ผู้ประกอบการ ทั้งบริษัทรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วน ปรับแนวทางจัดการภาคแรงงาน ทั้งลดการทำงานล่วงเวลา ถึงขั้นลดจำนวนพนักงานลง โดยผู้ประกอบการที่ประกาศลดพนักงานไปแล้ว คือ โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จะยกเลิกต่อสัญญาพนักงานชั่วคราวจำนวน 1,350 คน และเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) หรือจีเอ็ม 350 คน
นายยงยุทธกล่าวยอมรับว่า สิ่งที่ภาคแรงงานรู้สึกเป็นห่วงในช่วงนี้คือ การที่ผู้ประกอบการอาจฉวยโอกาสลดต้นทุนการบริหารงาน ด้วยการเลิกจ้างพนักงาน ทั้งที่ยังไม่มีความจำเป็นถึงขั้นนั้น ดังนั้นสหพันธ์จึงมีแผนเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง เข้ามาช่วยดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม
"คณะกรรมการดังกล่าว เข้าไปดูแลในส่วนของพนักงานซับคอนแทร็คที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด เพราะพนักงานกลุ่มนี้ในแง่ของกฎหมาย จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษใดๆ จากบริษัททั้งสิ้น เนื่องจากเป็นพนักงานชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันทั้งค่ายรถและโรงงานผลิตชิ้นส่วนนิยมว่าจ้างจำนวนมาก เพราะรับผิดชอบไม่สูงเท่ากับพนักงานประจำหากถูกเลิกจ้าง ซึ่งในแง่กฎหมายถือว่าไม่ผิด ปัจจุบันบุคลากรในสายงานอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่ทั้งสิ้นกว่า 3 แสนคนนั้น แบ่งเป็นกลุ่มพนักงงานชั่วคราวประมาณ 2 แสนคน" นายยงยุทธกล่าว